ท่ามกลาง Power Bank ที่มีมากมายหลายแบรนด์ในตลาดตอนนี้ ทั้งแบรนด์ที่มีชื่อเสียง หรือจะเป็น Power Bank รูปการ์ตูนหรือทรงต่างๆทั่วไปตามท้องตลาด แต่ละตัวแตกต่างกันอย่างไร ถ้าใครกำลังมองหา Power Bank สักตัวไว้ใช้งานในการพกพาไปทำงานหรือออกทริปต่างจังหวัด รีวิวนี้อาจจะมีคำตอบให้คุณ กับ Power Bank จากอเมริกาในชื่อ “ANKER”

แน่นอนว่าสิ่งที่ต่างจาก Power Bank แบรนด์อื่น ๆ นอกจากการผลิตจะได้มาตรฐาน USA แล้ว ANKER ยังมีเทคโนโลยีการชาร์จเฉพาะตัวอย่าง Power IQ ซึ่งจะจ่ายไฟได้สเถียรและสามารถชาร์จอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้เร็วกว่า Power Bank ทั่วไป

เทคโนโลยี Power IQ นั้นจะช่วยดูว่าอุปกรณ์ที่เราต่อชาร์จกับ Power Bank นั้นรองรับกระแสและแรงดันสูงสุดเท่าไร และจ่ายสูงสุดเท่าที่อุปกรณ์นั้นจะรองรับเพื่อสามารถชาร์จได้ไวที่สุด (แต่ไม่เกินกำลังที่ Power Bank จ่ายได้) ทำให้สามารถชาร์จอุปกรณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหูฟัง, Smartphone หรือ iPad ได้รวดเร็ว

เทคโนโลยี Voltage Boost นั้น จะตรวจสอบความต้านทานของสายชาร์จ เพื่อที่จะปรับแรงดัน (V) ให้เหมาะสมกับสายชาร์จแต่ละประเภท จึงทำให้กระแสไฟฟ้า วิ่งผ่านสายชาร์จได้เต็มประสิทธิภาพที่สุด

และอีกจุดเด่นคือภายในตัว Power Bank นั้นจะประกอบไปด้วยวงจรความปลอดภัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวงจรควบคุมอุณหภูมิ, ควบคุมกระแสไฟที่จ่าย, ป้องกันไฟกระชาก และไฟฟ้าลัดวงจร ช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการใช้งานของผู้ใช้

แพคเกจจะมาในรูปแบบกล่องสีขาวขอบฟ้า ขนาดไม่ใหญ่มาก โดยอุปกรณ์ภายในกล่องจะมี คู่มือ, Power Bank, สายชาร์จ และมีถุงผ้าสำหรับใส่ Power Bank แถมมาให้ด้วย

โดยตัวที่เราจะมารีวิวกันในวันนี้จะมีทั้งหมดสามรุ่นด้วยกันคือ

  1. ANKER PowerCore Fusion 5000 mAh Portable Charger
  2. ANKER PowerCore Speed 10000 mAh with QC3.0
  3. ANKER PowerCore Speed 20000 mAh with QC3.0

โดยทุกตัวจะรองรับเทคโนโลยี Power IQ ของ Anker ทั้งหมด ซึ่งเทคโนโลยีนี้จะสามารถทำให้ชาร์จได้ดีหรือเทียบเท่า Quick Charge ของ Qualcomm ยังไง เราจะมาทดสอบให้ดูกันครับ

การใช้งาน ANKER จะให้พอร์ตการใช้งานต่างๆ พร้อมสัญลักษณ์มาเพื่อกันผู้ใช้ใช้งานผิด แต่ว่าถ้าเสียบผิดจริงก็ไม่มีผลต่อการใช้งาน เช่น ถ้าเราเอา Smartphone ที่รองรับเทคโนโลยี QC 3.0 ไปเสียบช่อง Power IQ ก็จะจ่ายกระแสตามเทคโนโลยี Power IQ เท่านั้น ตรงนี้อาจจะต้องสังเกตในการใช้งานกันเล็กน้อย เพราะว่า ANKER นั้นไม่มีการแยกสีพอร์ตเหมือนกับแบรนด์อื่น ๆ ส่วนไฟแสดงสถานะประจุคงเหลือของ Power Bank จะเป็นไฟ LED 4 จุดอยู่ด้านข้างปุ่ม Power

โดยการทดสอบของเราจะทดสอบในส่วนของการจ่ายแรงดันและกระแสของ Power IQ เทียบกับ Quick Charge 3.0 ว่าแนวโน้มเป็นยังไง เป็นไปตามที่เขาเคลมไว้หรือปล่าว โดยสามารถดูรีวิวและกราฟแรงดันและกระแสแต่ละตัวได้เลยครับ

มาเริ่มที่ตัวแรกกันก่อน กับ ANKER PowerCore Fusion 5000 mAh ตัวนี้จะแตกต่างจาก Power Bank ทั่วไปตรงที่ตัวมันเองทำหน้าที่เป็น Adapter ชาร์จไฟได้ในตัวและสามารถถอดออกมาใช้เป็น Power Bank ก็ได้ ตัวนี้จะไม่รองรับเทคโนโลยี Quick Charge แต่ยังมีเทคโนโลยีชาร์จเร็ว Power IQ ของ ANKER ให้ใช้งานอยู่ มีพอร์ตการใช้งานทั้งหมด 2 พอร์ต ส่วน พอร์ต micro USB ด้านข้างนั้นจะไว้สำหรับใช้ Adapter ภายนอกชาร์จตัว Power Bank ได้อีกที ในกรณีที่เต้ารับที่เราจะใช้งานนั้นมีพื้นที่แคบเกินไปไม่สามารถใช้ตัว Power Bank เสียบได้

สามารถดูคลิป Unbox ได้ด้านล่างครับ

การทดลองเราจะใช้ Adapter ชาร์จไฟที่เป็น QC 3.0 กับ Adapter ธรรมดาทั่วไปในการประจุไฟเข้า Power Bank จะเห็นได้ว่าการชาร์จไฟด้วย Adapter QC 3.0 นั้นจะสามารถจ่ายกระแสและแรงดันได้สูงกว่า Adapter เล็กน้อย ส่วนการชาร์จไฟจาก Adapter ในตัวของมันเองเราไม่สามารถทดสอบด้วยอุปกรณ์ที่มีอยู่ได้ แต่จากที่ลองดูความไว จากการชาร์จทิ้งไว้จะพอ ๆ กับชาร์จด้วย Adapter ทั่วไปครับ

เทียบการชาร์จ Xperia XZ2 ที่แบตประมาณ 50% โดยทดลองการชาร์จจาก Power Bank โดยตรงและชาร์จจาก Power Bank ที่เสียบชาร์จไฟไปด้วยจะพบว่าแรงดันและกระแสที่จ่ายยังไม่แตกต่างกันมากนัก

เราได้ลองทำการชาร์จ iPad Pro ด้วยวิธีเดียวกับ Xperia XZ2 ก็พบว่าแรงดันและกระแสที่จ่ายจาก Power Bank ขณะชาร์จโดยตรงและเสียบปลั๊กชาร์จ Power Bank ไปด้วยนั้นมีค่าเท่ากัน ทำให้การชาร์จอุปกรณ์ขณะทำการชาร์จ Power Bank ไปด้วยนั้นไม่ทำให้ความเร็วในการชาร์จลดลงแต่อย่างใด

จากนั้นเราได้ทดลองชาร์จอุปกรณ์จาก Power Bank และเปิดเล่นไปด้วย โดยกราฟด้านบนจะเป็นของ Xperia XZ2 จะเห็นได้ว่ากระแสและแรงดันจะยังคงจ่ายได้นิ่งอยู่ แทบไม่มีการแกว่งของกระแส

จากการทดสอบ ANKER PowerCore Fusion 5000 mAh ตัวนี้ด้วยการชาร์จวิธีต่าง ๆ จากกราฟด้านบนจะเห็นได้ว่าการชาร์จอุปกรณ์จาก Power Bank โดยตรงหรือว่าชาร์จอุปกรณ์ไปด้วย และนำ Power Bank เสียบชาร์จไฟไปด้วยนั้นไม่ทำให้ความเร็วในการชาร์จลดลงแต่อย่างใด ส่วนการประจุไฟเข้า Power Bank ด้วย Adapter ภายนอกจะเห็นว่า Adapter ที่เป็น Quick Charge 3.0 นั้นสามารถชาร์จ Power Bank ได้เร็วกว่า Adapter ทั่วไปอยู่ประมาณ 20% ด้วยกัน แต่ตามสเปคตัวนี้จะไม่รองรับการชาร์จไฟเข้าด้วยเทคโนโลยี Quick Charge นะครับ

ANKER PowerCore Fusion 5000 mAh ตัวนี้นอกจากความเล็กกะทัดรัดของมันแล้ว ยังใช้งานได้สะดวกเพราะมี Adapter ชาร์จไฟในตัวเลย ถ้าเราไปเที่ยวก็ไม่ต้องพกทั้ง Power Bank และ Adapter สำหรับชาร์จแยกไป ครบจบในตัวเดียว แต่ว่าความจุที่ได้นั้นอาจเพียงพอแค่ชาร์จสมาร์ทโฟนได้แค่รอบครึ่งเท่านั้น กับความเร็วที่ไม่มีเทคโนโลยี Quick Charge มาให้ แต่ก็ยังมีเทคโนโลยี Power IQ จาก ANKER ที่สามารถชาร์จแบตอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้ไวกว่า Power Bank ตัวอื่น ๆ ในตลาดมาทดแทน สำหรับใครที่อยากพก Power Bank แบบตัวเดียวจบตัวนี้เป็นอีกตัวที่น่าสนใจไม่น้อยครับ

ตัวที่สองที่เราจะมารีวิวกันคือ ANKER PowerCore Speed 10000 mAh ตัวนี้จะมาพร้อมกับเทคโนโลยี Power IQ และ Quick Charge 3.0 ในพอร์ตเดียวกันเลย โดยจะมีขนาดเล็กกระทัดรัดพกพาได้สะดวก

สามารถดูคลิป Unbox ได้ด้านล่างครับ

ทดลองด้วยการชาร์จประจุไฟเข้า Power Bank ด้วย Adapter Quick Charge 3.0 และ Adapter ธรรมดาทั่วไป จะเห็นว่าการชาร์จด้วย Adapter ที่รองรับ QC 3.0 จะทำการชาร์จประจุเข้า Power Bank ได้เร็วกว่าเล็กน้อย แต่ว่าตัวนี้จะยังไม่รองรับการชาร์จไฟเข้า Power Bank ด้วยเทคโนโลยี Quick Charge นะครับ

ทดลองชาร์จ Xperia XZ2 ขณะที่เหลือแบตเตอรี่ประมาณ 30% จะได้แรงดันที่ประมาณ 9V และกระแส 1.2A ซึ่งถือเป็นการจ่ายตามมาตรฐานของ Quick Charge 3.0 โดยเราได้ลองทำการเปิดสมาร์ทโฟนเล่นไปด้วยขณะชาร์จพบว่ามีการเพิ่มกระแสที่จ่ายอยู่ระหว่าง 1.3 – 1.4A

ทดลองชาร์จ Xperia XZ2 โดยคราวนี้จะเริ่มทดลองที่ปริมาณแบตคงเหลือ 70% ซึ่ง QC 3.0 จะทำการลดการจ่ายแรงดันลงมาจาก 9V เป็น 6V และกระแสจาก 1.2 เป็น 0.8 แต่ถ้าเราทำการเปิดเล่นสมาร์ทโฟนขณะชาร์จไปด้วยนั้นค่ากระแสจะเพิ่มสูงขึ้นมาเฉลี่ยอยู่ที่ 1.1 โดยประมาณ

จากนั้นลองชาร์จ iPad Pro จะได้แรงดันการชาร์จที่ 5V กระแส 2.3A โดยประมาณ โดยเมื่อทำการชาร์จไปด้วยเล่นไปด้วยจะได้กระแสที่เท่าเดิม ไม่มีการปรับเพิ่มเหมือนสมาร์ทโฟนที่รองรับเทคโนโลยี Quick Charge แต่อย่างใด

จากการทดสอบ ANKER PowerCore Speed 10,000 mAh ตัวนี้ด้วยการชาร์จวิธีต่าง ๆ จากกราฟด้านบนจะเห็นได้ว่าการชาร์จประจุไฟเข้า Power Bank โดยใช้ Adapter ที่เป็น Quick Charge 3.0 นั้นสามารถชาร์จ Power Bank ได้เร็วกว่า Adapter ทั่วไปอยู่ประมาณ 20% ด้วยกัน ส่วนการชาร์จอุปกรณ์ที่รองรับเทคโนโลยี Quick Charge 3.0 นั้นก็สามารถจ่ายไฟได้เต็ม 9V ตามมาตรฐาน รวมถึงการชาร์จอุปกรณ์อื่น ๆ อย่าง iPad Pro ก็สามารถชาร์จไฟได้รวดเร็วกว่า Power Bank ทั่วไป โดยจากการทดสอบจะเห็นได้ว่าสามารถจ่ายไฟให้กับ iPad Pro ได้ประมาณ 12W เลยทีเดียว

ANKER PowerCore Speed 10000 mAh ความจุเพิ่มแต่ยังคงขนาดที่พกพาสะดวกเช่นเดิม ตัวนี้จะมีจุดเด่นอีกอย่างคือรองรับเทคโนโลยี Quick Charge 3.0 และ Power IQ ในพอร์ตเดียว ขึ้นอยู่กับอุปกรณ์ที่เรานำมาชาร์จแบตด้วยว่ารองรับเทคโนโลยี Quick Charge ไหมถ้าไม่รองรับก็จะจ่ายแรงดันและกระแสจากเทคโนโลยี Power IQ แทน สามารถใช้ชาร์จสมาร์ทโฟนได้ประมาณ 2-3 รอบ หรือชาร์จแท็บเล็ตอย่าง iPad Pro ได้ 1 รอบครึ่ง ซึ่งถ้าพกใช้งานในหนึ่งวันก็สามารถใช้ชาร์จอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้สบาย

ส่วนตัวสุดท้ายในรีวิวนี้จะเป็น ANKER PowerCore Speed 20000 mAh ซึ่งถือเป็นพี่ใหญ่ที่มีขนาดความจุเยอะที่สุด แต่รูปทรงยังคงพกพาสะดวก มีขนาดไม่กว้างจนเกินไปถือด้วยมือข้างเดียวได้สะดวก แต่มีความยาวเพิ่มขึ้นจากตัวก่อน ๆ ตัวนี้จะมีพอร์ตชาร์จมาให้สองพอร์ตด้วยกันคือ Quick Charge 3.0 + Power IQ 1 พอร์ตและพอร์ตที่รองรับแค่ Power IQ อีก 1 พอร์ต

สามารถดูคลิป Unbox ได้ด้านล่างครับ

ทดลองด้วยการชาร์จประจุไฟเข้า Power Bank ด้วย Adapter Quick Charge 3.0 และ Adapter ธรรมดาทั่วไป โดยการชาร์จด้วย Adapter ที่รองรับ QC 3.0 จะทำการชาร์จประจุเข้า Power Bank ได้เร็วกว่า (ถ้า Power Bank เหลือประจุไฟน้อย ๆ จะสามารถชาร์จได้ที่แรงดัน 9V ตามสเป็คของ QC 3.0) โดยจากกราฟจะทดสอบขณะที่ Power Bank เหลือประจุไฟประมาณ 25% (LED ติดหลอดเดียว) จะเห็นว่าแรงดันขณะชาร์จจะอยู่ที่ 10V เลยทีเดียว และถ้าชาร์จไปเรื่อย ๆ จนประจุไฟบน Power Bank ได้ประมาณ 50% ก็จะปรับลดลงมาเหลือประมาณ 5V

ทดลองชาร์จ Xperia XZ2 ขณะที่เหลือแบตเตอรี่ประมาณ 30% จะได้แรงดันที่ประมาณ 9V และกระแส 1.2A ซึ่งเป็นการจ่ายตามมาตรฐานของ Quick Charge 3.0 โดยเราได้ลองทำการเปิดสมาร์ทโฟนเล่นไปด้วยขณะชาร์จจะมีการเพิ่มแรงดันไปที่ 1.5A แต่จะมีการแกว่งของกระแสเกิดขึ้น อยู่ระหว่าง 1.5 – 1.3A และถ้าชาร์จไปเรื่อย ๆ จนแบตของ Xperia XZ2 อยู่ที่ประมาณ 70% ก็จะทำการลดแรงดันและกระแสลงมาอยู่ที่ 5V 0.9A

มาลองชาร์จ Xperia XZ2 กับพอร์ต Power IQ เทคโนโลยีของ ANKER กันบ้าง โดยที่แบต Xperia XZ2 เหลือประมาณ 30% ชาร์จมาจนถึง 70% จะเห็นได้ว่าแรงดันและกระแสจะอยู่คงที่เท่าเดิมที่ 5.2V 1.4A โดยประมาณ ไม่มีการเพิ่มลดกระแสหรือแรงดันแบบเทคโนโลยี Quick charge 3.0 แต่ว่าด้วยแรงดันและกระแสเท่านี้ก็สามารถทำให้ชาร์จได้เร็วกว่า Power Bank ทั่วไป และจากการทดสอบชาร์จไปและกดเล่นไปด้วยนั้นจะเห็นได้ว่า ไม่มีการปรับเพิ่มกระแสเหมือน Quick charge 3.0 เช่นกัน แต่ว่ากระแสที่ได้จะมีค่าที่นิ่งกว่า

ทดสอบชาร์จ iPad Pro กันบ้างด้วยพอร์ต Quick charge 3.0 และ Power IQ จากกราฟด้านบนจะเห็นว่าที่พอร์ต Quick Charge 3.0 จะจ่ายไฟได้มากกว่า Power IQ ของ ANKER เล็กน้อย โดยจะชาร์จ iPad Pro ที่ 5V 2.3A ในขณะที่พอร์ต Power IQ นั้นจ่ายไฟได้ที่ 4.9V 2.1A แต่ถ้าเทียบความไวจากการชาร์จด้วย 2 พอร์ตนี้บนอุปกรณ์ที่ไม่รอบรับ Quick Charge 3.0 ก็คงจะต่างกันไม่มากเท่าไร

จากการทดสอบ ANKER PowerCore Speed 20000 mAh ด้วยวิธีการชาร์จรูปแบบต่าง ๆ จากกราฟด้านบนจะเห็นได้ว่าการชาร์จประจุไฟเข้า Power Bank โดยใช้ Adapter ที่เป็น Quick Charge 3.0 นั้นสามารถชาร์จ Power Bank ได้เร็วกว่า Adapter ทั่วไปอยู่ประมาณ 50% (ถ้า Power Bank เหลือไฟน้อยจะเห็นได้ว่าสามารถจ่ายไฟชาร์จได้ถึง 14W เลยทีเดียว) ส่วนการชาร์จด้วยอุปกรณ์ที่รองรับ QC 3.0 อย่าง Xperia XZ2 ก็ยังจ่ายไฟได้เต็มประสิทธิภาพที่ 9V ตามมาตรฐาน Power IQ นั้นถ้าเทียบกับ QC 3.0 แล้วจะเห็นว่าความเร็วการชาร์จช่วงปลายนั้นแตกต่างกันไม่มาก เพราะ QC 3.0 เมื่อแบตของอุปกรณ์อยู่ที่ประมาณ 70% จะเริ่มทำการลดแรงดันลงมา

แต่ถ้าลองเทียบโดยชาร์จอุปกรณ์ที่ไม่รองรับ QC 3.0 อย่าง iPad Pro นั้นจะเห็นว่าความเร็วในการชาร์จด้วยพอร์ต Power IQ หรือ QC 3.0 ความเร็วไม่แตกต่างกันมากเท่าไร (QC 3.0 จะเร็วกว่านิดหน่อยเพราะจ่ายไฟได้มากกว่า)

ANKER PowerCore Speed 20000 mAh ตัวนี้นับว่ามีความจุเยอะสุดที่เรารีวิวมา แต่ว่าขนาดตัวความกว้างจะเท่ากับ Power Bank ตัวอื่น ๆ มีเพียงความยาวเท่านั้นที่ขยายขึ้นทำให้ยังสามารถถือใช้งานมือเดียวได้สะดวก มีพอร์ตให้ใช้งานถึง 2 พอร์ต (แต่รองรับ Quick Charge แค่ 1 พอร์ตนะ) สามารถใช้ชาร์จอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้พร้อมกัน ไม่มีแรงดันตก ความจุนี้สามารถใช้ชาร์จสมาร์ทโฟนได้ประมาณ 7 ครั้งหรือชาร์จ iPad ได้ประมาณ 2 ครั้งได้ ทำให้มันเหมาะกับการพกใช้งานเวลาเราเดินทางหรือออกทริปไปต่างจังหวัดได้ โดยที่ไม่ต้องมากังวลว่าอุปกรณ์ของเรานั้นจะมีแบตเตอรี่เพียงพอไหม

กราฟด้านบนจะแสดงแรงดันและกระแสขณะชาร์จไฟเข้า Power Bank ด้วยวิธีต่าง ๆ จะเห็นว่า Power Bank ความจุ 5000 mAh และ 10,000 mA นั้นสามารถใช้ Adapter ที่เป็น Quick Charge ชาร์จจะได้กระแสสูงกว่าใช้ Adapter ทั่วไปชาร์จ แต่ยังไม่ได้ถึงมาตรฐานของ Quick Charge 3.0 เหมือนกับตัว 20,000 mAh ที่รองรับการชาร์จไฟเข้า Power Bank ที่เทคโนโลยี Quick Charge 3.0 ถ้ามองจากกราฟจะเห็นว่าขณะใช้ QC 3.0 ชาร์จจะได้กำลังไฟฟ้าที่ 14.5 W เลยทีเดียวถ้าเทียบกับ Adapter ทั่วไปที่จะมีกำลังไฟฟ้าประมาณ 7.5 W ซึ่งถือว่าสามารถใช้ Adapter QC 3.0 ชาร์จไฟเข้าได้เร็วกว่า Adapter ทั่วไปประมาณ 2 เท่าตามที่ ANKER เคลมไว้ จากการลองชาร์จ ANKER PowerCore 20,000 mAh พบว่าใช้เวลาชาร์จจาก 25% ถึง 100% ด้วยเวลาประมาณ 4-5 ชั่วโมงเท่านั้น

อันนี้เป็นข้อมูลเพิ่มเติมที่ผมลองมอนิเตอร์การชาร์จของ Quick Charge 3.0 (ข้อสรุปตรงนี้อาจยังไม่ถูกต้องทั้งหมดเพราะยังมีปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอีก และเราไม่ทราบวงจรการทำงานที่แน่ชัดของ Quick Charge 3.0) แต่พอดูแนวโน้มการทำงานได้ว่า เมื่อแบตเตอรี่ต่ำ ตัว QC 3.0 จะทำการเพิ่มแรงดันการชาร์จไปที่ 9V แล้วเริ่มลดลงมาแต่จะใช้การเพิ่มกระแสเข้าไปแทนเพื่อให้กำลังไฟฟ้ายังเท่าเดิม ซึ่งกระแสและแรงดันจะทำการเพิ่มลดผกผันกันไปเป็นช่วง ๆ อาจเพื่อลดปัญหาเรื่องความร้อน จนกระทั้งแบตเตอรี่ของอุปกรณ์ที่ชาร์จอยู่ที่ระดับ 70 – 80% ก็จะทำการลดแรงดันและกระแสลงมาเป็นแบบชาร์จปกติ และลดลงเป็นชาร์จช้าเมื่อแบตเตอรี่อยู่ที่ 95 – 100% เพื่อถนอมอายุแบตเตอรี่

ส่วนกราฟนี้จะเป็นการทำงานของ Power IQ ซึ่งตรงนี้จะไม่มีการเพิ่มลดแรงดันขณะชาร์จ มันจะตรวจสอบอุปกรณ์ว่ารองรับแรงดันหรือกระแสเท่าไร แล้วปล่อยไฟชาร์จเต็มพิกัดที่อุปกรณ์นั้นรองรับได้ จากที่ลองชาร์จ Xperia XZ2 จะเห็นได้ว่าตัว Power IQ นั้นเริ่มชาร์จที่แบต 30% ด้วยแรงดันและกระแส 5.3V 1.4A คงที่ไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งแบตอยู่ที่ 70% ก็จะเริ่มลดแรงดันและกระแสลงมาอยู่ที่ 5.1V 0.8A และเมื่อแบตเตอรี่ใกล้เต็มอยู่ที่ประมาณ 90 – 100% ก็จะทำการลดกระแสลงเหลือเพียง 0.1A เท่านั้นเพื่อเป็นการถนอมอายุแบตเตอรี่

อันนี้จะเป็นการเปรียบเทียบอีกทีสำหรับคนที่สงสัยว่า ถ้าเรามีอุปกร์ที่ไม่รองรับ Quick Charge 3.0 อย่าง iPad Pro จะต้องเสียบชาร์จที่พอร์ตไหนดี ซึ่งถ้าดูตามกราฟด้านบนจะเห็นได้ว่าการเสียบชาร์จไม่ว่าจะพอร์ต Quick Charge 3.0 หรือ Power IQ นั้นให้กำลังไฟที่ไม่ต่างกันมาก จะมีต่างแค่กระแสที่พอร์ต Quick Charge จ่ายให้เยอะกว่าแค่ 0.2A เท่านั้น ดังนั้นถ้าอุปกรณ์ไม่รองรับเทคโนโลยี Quick Charge ล่ะก็ เสียบพอร์ตไหนก็ได้

สำหรับใครที่กำลังหา Power Bank ซักตัวไว้ใช้งาน สามารถเลือกซื้อกันได้ที่นี่เลย

SE-UPDATE Shop

ขอบคุณที่ร่วมแสดงความรู้สึกของคุณต่อบทความนี้ อย่าลืมที่จะแชร์ให้คนอืนได้รู้ความรู้สึกนี้ .
บอกให้เรารู้ถึงความรู้สึกหลังจากที่คุณได้อ่านบทความนี้
  • ประทับใจสุดๆ
  • ดีจังเลย
  • โกรธสุดๆ
  • เฉยๆ อ่ะ
  • รู้สึกหดหู่