ผู้บริหารสูงสุดของบริษัทได้กล่าวว่า สิ่งที่เขาลงแรงกำลังผลิดอกออกผล แต่เขายังไม่พร้อมที่จะฉลองชัยชนะในตอนนี้

    เมื่อถูกถามถึงเคล็ดลับในการคืนชีพ Sony นายคาซูโอะ ฮิราอิ ประธานกรรมการบริหารของ Sony Corporation ได้ตอบว่า คือ การทำให้มีเอกลักษณ์ในแบบของตน – ซึ่งไม่ได้เกิดจากการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลมหาศาลจากลูกค้าเหมือนที่บริษัทใหญ่ๆหลายรายกำลังทำอยู่ แต่มันมาจากการล้วงเอาความรู้สึกออกมา แล้วใส่มันลงไปในผลิตภัณฑ์

    “การขยับเข้าให้ใกล้ยิ่งขึ้น คือหนทางเดียว” นายฮิราอิกล่าว ภายหลังจากที่เขาเข้ามากุมบังเหียนของ Sony ตั้งแต่เมื่อประมาณ 5 ปีครึ่งที่ผ่านมา ความรับผิดชอบหลักของเขาคือการกู้สถานการณ์ของบริษัท และเขาก็ทำได้สำเร็จ โดยปีนี้ Sony คาดการณ์ว่าปีนี้จะมีผลกำไร 4.2 พันล้านปอนด์ (ประมาณ 185,450.58 ล้านบาท) ซึ่งจะเป็นตัวเลขกำไรสูงที่สุดตลอดกาลของบริษัท นายฮิราอิเป็นผู้ที่เชื่อในแนวคิด “Kando” (Be moved) ของญี่ปุ่น ซึ่งเกี่ยวกับการสร้างความเชื่อมต่อทางอารมณ์ไปยังผู้บริโภค ที่ Sony เรียกมันว่า “the last one inch” (ระยะห่าง 1 นิ้วสุดท้าย) และนั่นคือปัจจัยที่ทำให้ลูกค้าร้องว้าว (wow factor) ที่ช่วยก่อให้เกิดความศรัทธาอย่างแรงกล้าและความภักดี

    “พ่อและปู่ของผมเป็นผู้คลั่งไคล้ Sony” เขากล่าว “เมื่อตอนที่ผมอายุประมาณ 5 ขวบ พ่อของผมได้บันทึกเสียงของผมไว้บนเครื่องเล่น Reel Tape ของเขา และนำมาเล่นซ้ำ การที่ได้ยินเสียงของผมเองมันเป็นความมหัศจรรย์ของเทคโนโลยีจริงๆ”

    “พวกเราเคยมีทีวีขนาดยักษ์ แต่พวกเราก็เคยมีทีวีขนาดเพียง 5 นิ้ว และผมคิดว่ามันยอดเยี่ยมมากที่ Sony สามารถย่อส่วนผลิตภัณฑ์เหล่านี้ให้เล็กจิ๋วได้”

    แต่ ณ เวลาที่นายฮิราอิได้ก้าวขึ้นมารับตำแหน่งซีอีโอ ปัจจัยที่ทำให้ลูกค้าร้องว้าวเหล่านั้นได้จางหายไปแล้ว

    “ผลิตภัณฑ์ของ Sony จำเป็นจะต้องมีทั้งคุณค่าทางการใช้งานและคุณค่าทางอารมณ์” นายฮิราอิได้กำหนดการนำแนวคิด Kando ไปใช้ในทุกธุรกิจและการปลุกคืนความรุ่งโรจน์ที่ได้จางหายไปของ Sony ให้เป็นภารกิจหลักของเขา “ในตลาดที่แข่งขันกันด้วยราคาเช่นนี้ ใครๆก็สามารถให้คุณค่าทางการใช้งานได้ แต่คุณค่าทางอารมณ์นั้นเป็นสิ่งที่เป็นส่วนหนึ่งของปรัชญาการออกแบบของ Sony เสมอมา และเป็นส่วนหนึ่งของ DNA ของ Sony นับตั้งแต่บริษัทได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 71 ปีที่แล้ว เหมือนว่าพวกเราได้ทำมันสูญหายไปชั่วครู่ และตลอดที่ผ่านมา งานของผมคือการคืนชีพความภาคภูมิใจในสิ่งที่เราทำ คือ การส่งมอบคุณค่าทางอารมณ์”

    Aibo หุ่นยนต์สุนัขที่ถูกชุบชีวิตขึ้นมาโดย Sony คือตัวตนของ Kando ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสามารถด้าน AI (ปัญญาประดิษฐ์) และหุ่นยนต์ของ Sony โดยการลอกเลียนแบบพฤติกรรมที่น่ารักต่างๆของสุนัขจริง Aibo สามารถแยกแยะใบหน้าและเสียงของมนุษย์ โดยบนหัว คาง และหลังของมันมีเซ็นเซอร์ติดตั้งอยู่ ซึ่งสามารถตอบสนองต่อการสัมผัสของผู้ใช้

 

ประสบการณ์การผจญเพลิง

    “หากมีความท้าทาย ทั้งในด้านองค์กรและด้านการเงิน ผมจะต้องไปที่นั่นและจัดการมันด้วยตัวเอง” นายฮิราอิกล่าว “เมื่อธุรกิจต่างๆกำลังดำเนินไปด้วยดี พวกเรามีผู้บริหารชั้นยอดที่สามารถบริหารจัดการในแต่ละวัน แต่เมื่อไฟลุกขึ้น ใครบางคนก็จำเป็นจะต้องไปที่นั่นและทำงานหนัก ลงมือดับไฟ แล้วพลิกธุรกิจให้กลับมา”

    การรับมือในฐานะที่เป็นผู้นำของนายฮิราอิได้ขยายไปถึงฮอลลีวูดที่เพิ่งจะมีข่าวลือในแง่ลบเกี่ยวกับพฤติกรรมการล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งเขาต้องการที่จะขยายวัฒนธรรมองค์กรด้านบวกของ Sony ไปให้ถึงที่นั่นภายหลังจากที่มีข่าวอีเมลหลุดของ Sony เองในปี 2014

    “ที่บริษัท Sony พวกเราไม่เพียงไม่อาจทนต่อพฤติกรรมการล่วงละเมิดทางเพศ แต่รวมถึงการล่วงละเมิดในทุกรูปแบบ” เขากล่าว “พวกเราต้องการที่จะสร้างสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย สุขสบาย และน่าไว้วางใจให้แก่พนักงานของพวกเราทั่วทั้งโลก”

    “พวกเรามีพนักงานประมาณ 120,000 คน และพวกเรามีนโยบายที่ชัดเจนเพื่อที่จะทำให้แน่ใจว่าพนักงานและฝ่ายบริหารเข้าใจตรงกันว่า พวกเราไม่ยอมรับสิ่งใดๆเหล่านี้และหากมีการฝ่าฝืน พนักงานสามารถรายงานเรื่องดังกล่าวให้กับฝ่ายบริหารได้อย่างสบายใจในทันทีและรับรู้ว่าทุกๆเรื่องเหล่านี้จะถูกสืบสวน และหากมีต้องมีการตัดสินใจที่จำเป็น ก็จะทำอย่างรวดเร็ว พวกเรามีนโยบายที่ดีอยู่แล้ว และพวกเราจะทำให้มันแข็งแกร่งยิ่งขึ้น”

    จากเดือนกุมภาพันธ์จนถึงสิงหาคมปีที่ผ่านมา เมื่อตอนที่นายฮิราอิกำลังมองหาหัวหน้าคนใหม่สำหรับ Sony Pictures Entertainment ภายหลังจากที่ Michael Lynton ได้ย้ายไป Snapchat เขาได้ใช้เวลาถึง 2 สัปดาห์ต่อเดือนที่สตูดิโอในเมืองคัลเวอร์ รัฐแคลิฟอร์เนีย “ตอนนั้นผมต้องการที่จะทำความรู้จักกับธุรกิจ(ภาพยนตร์)ให้ดียิ่งขึ้น” เขากล่าว “ผมต้องการที่จะสามารถมีบทสนทนาอันชาญฉลาดกับผู้สมัครที่มีศักยภาพในการรับตำแหน่ง เพื่อที่ผมจะสามารถตอบคำถามของพวกเขาได้และพูดกับพวกเขาได้ว่าอะไรคือสิ่งที่ผมคาดหวังให้พวกเขาลงมือทำ”

    ในขณะที่เขาอยู่ที่นั่น เขาได้ใช้โอกาสในการรับรู้ถึงการทำงาน พบปะกับพนักงานในระดับทั่วๆไป เพื่อที่จะทำความเข้าใจประเด็นปัญหาและแรงจูงใจในการทำงานของพวกเขา “Sony Pictures เป็นสถานที่ที่กว้างขวางมาก ผมไม่อยากจะเดินทางไปมาบนรถกอล์ฟ ผมอยากให้ผู้คนมองเห็นผมเดินเท้าไปมาจากฝั่งหนึ่งของสตูดิโอเพื่อไปประชุม หรือทักทายกับพนักงานต่างๆ”

    “จากการมีปฏิสัมพันธ์เหล่านี้ ผมได้ส่งข้อความไปยังพวกเขาว่าประธานขององค์กรจากกรุงโตเกียวมีความยินดีที่จะใช้เวลาเดือนละ 2 สัปดาห์ในการทำความเข้าใจบริษัท (Sony Pictures) และหาซีอีโอที่เหมาะสมให้กับมัน และจากนั้นมา วัฒนธรรมองค์กรที่ Sony Pictures Entertainment ก็ได้เปลี่ยนแปลง เพราะผู้คนเข้าใจแล้วว่า(สำนักงาน)โตเกียวคอยหนุนหลังพวกเขาอยู่”

 

ดีไซน์ที่ยอดเยี่ยมไม่ควรจะไปเปลี่ยนมัน

    นายฮิราอิได้ประสบความสำเร็จในการกอบกู้ธุรกิจทุกอย่างที่เขาเคยได้เป็นผู้นำ ในปี 2016 ตอนที่เขาก้าวขึ้นเป็นประธานของ Sony Computer Entertainment ขณะนั้น PlayStation ขาดทุนถึง 2.3 แสนล้านเยน (ประมาณ 65,929.5 ล้านบาท) จากความล้มเหลวของ PS3 นายฮิราอิได้พลิกธุรกิจและได้นำทีมบริหารชุดใหม่เข้ามา ซึ่งเป็นผู้สร้าง PS4 ที่ประสบความสำเร็จในระดับปรากฏการณ์

    จุดศูนย์กลางของกลยุทธของนายฮิราอิคือการสร้างแบรนด์ที่คงทน ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการออกแบบของ Sony โดยเมื่อนายฮิราอิได้กลายมาเป็นซีอีโอแล้ว ทุกผลิตภัณฑ์ได้มีการปรับปรุงการออกแบบ ซึ่งเป็นเรื่องปกติในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับผู้บริโภค

    “ผมได้นั่งคุยกับผู้จัดการของประเภทสินค้าหลักแต่ละคน และบอกกับพวกเขาว่า ‘หากคุณคิดว่ามันมีดีไซน์ที่ยอดเยี่ยมอยู่แล้ว ก็อย่าไปเปลี่ยนมัน จงภูมิใจในสิ่งที่คุณทำ และจงภูมิใจให้มากพอที่จะเก็บมันไว้’ ”

    “สิ่งที่เราพูดถึงคือการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม มันแสดงให้เห็นถึงความเคารพของ Sony ต่อผลิตภัณฑ์ที่พวกเราสร้างขึ้น หากมันดีพอสำหรับลูกค้า มันก็ควรจะดีพอสำหรับเราที่จะไม่ต้องเปลี่ยนแปลงการออกแบบใหม่ทุกๆปี นั่นคือวิธีที่พวกเราสร้างคุณค่าทางอารมณ์”

    แนวทางการดำเนินงานเช่นนี้ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าได้ผลจริงจากกล้องซีรี่ย์ RX และหูฟังซึ่งเป็นรุ่น Hi-end ของ Sony ทว่านอกเหนือจากเครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับผู้บริโภค Sony ได้หันมาโฟกัสที่ AI และหุ่นยนต์, เซ็นเซอร์ถ่ายภาพ (ผ่านธุรกิจ Semiconductor ของพวกเขา) และ PlayStation ที่มีผู้ใช้กว่า 70 ล้านคนทั่วโลก

    นายฮิราอิยังไม่พึงพอใจแม้ PlayStation จะเป็นผู้นำของอุตสาหกรรมเกมหรือ Sony Pictures จะมีภาพยนตร์ที่ติดตลาดหลายเรื่องก็ตาม “Sony Pictures มีภาพยนตร์ที่ฮิตอย่างมากหลายเรื่องในปีนี้ แต่พวกเขาจำเป็นต้องมีโมเดลธุรกิจที่ยั่งยืน พวกเราประสบความสำเร็จกับ Spider-Man (Homecoming) เมื่อปีที่แล้ว และนั่นหมายความพวกเรามีเรื่องให้ทำมากมายทั้ง DVD, Blu-ray และลิขสิทธิ์ของ Spider-Man ในปีนี้และปีถัดๆไป ปีแรกประสบความสำเร็จหรือไม่จะเป็นสิ่งที่กำหนดธุรกิจนี้ในปีที่ 2 และปีที่ 3 ไปเรื่อยๆ จากนั้นมันจะลุ่มๆดอนๆ มันเป็นธุรกิจที่ซับซ้อน”

    บริษัทกำลังค้นหาวิธีการนำ AI เซ็นเซอร์ และหุ่นยนต์ ของพวกเขาไปใช้ยานพาหนะไร้คนขับ ทางบริษัทได้ยกตัวอย่างให้เห็นว่า เซ็นเซอร์ถ่ายภาพของพวกเขาที่เป็นผู้นำในตลาดปัจจุบัน สามารถช่วยให้ยานพาหนะ “มองเห็น” ได้ดีกว่าสายตาของมนุษย์ด้วยเลนส์มุมกว้างที่มาพร้อมความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแสงน้อยหรือสภาพแสงที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆได้ในทันที

    นายฮิราอิได้ประกาศเกี่ยวกับความร่วมมือกับผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำภายในงาน CES ที่ลาสเวกัส แต่ก็ยอมรับว่าความร่วมมือนั้นยังอยู่ในขั้นตอนการตั้งไข่ และคาดว่าคงจะไม่สร้างรายได้เป็นเวลาอีกหลายปี “สำหรับในตอนนี้ แรงผลักดันหลักของธุรกิจเซ็นเซอร์ถ่ายภาพคือสมาร์ทโฟน กล้องถ่ายรูปดิจิตอล และกล้องวงจรปิดกับ IoT (Internet of Things) บางส่วน พวกเราจำเป็นจะต้องทำให้แน่ในว่าพวกเรามีธุรกิจที่มั่นคงในวันนี้ เพื่อที่พวกเราจะสามารถก้าวต่อไปในอุตสาหกรรมรถยนต์ในวันข้างหน้า”

    เซ็นเซอร์ถ่ายภาพของ Sony ถูกนำไปใช้ในสมาร์ทโฟนแบรนด์เจ้าตลาดมากมาย – นายฮิราอิได้กล่าวติดตลกวาพวกเขาจัดส่งให้กับบริษัท “เล็กๆ” ในคูเปอร์ติโน เกาหลีใต้ และจีน – แต่สมาร์ทโฟนของพวกเขาเองยังคงต้องดิ้นรนในตลาดนอกประเทศญี่ปุ่น

    บางคนได้แนะนำว่า Sony Mobile ควรจะโยนผ้าขาว แต่นายฮิราอิไม่เห็นด้วย:

    “สาเหตุที่พวกเรายังคงทำอยู่ไม่ใช่เพราะว่าพวกเราคิดว่าสมาร์ทโฟนคืออนาคต แต่เป็นเพราะพวกเราต้องมีอุปกรณ์บางอย่างที่จะใช้เชื่อมต่อกับเครือข่ายสำหรับการสื่อสาร หากพวกเราออกไปจากพื้นที่นี้ (ธุรกิจการสื่อสาร) พวกเราก็จะไม่มีโอกาสที่มากพอในการมีบทบาทเมื่อการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์* (paradigm shift) ครั้งถัดไปมาถึง” (*หมายถึงการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกวงการ จากสมาร์ทโฟนไปเป็นอุปกรณ์อื่น)

    “มันไม่ได้เกี่ยวกับสมาร์ทโฟนในทุกวันนี้ แต่มันเกี่ยวกับมองไปยังสิ่งที่เหนือกว่าสมาร์ทโฟน – มองไปยังสิ่งที่เราจะทำในอนาคต – และมุ่งที่จะเป็นผู้เล่นในพื้นที่นั้น เป็นผู้นำหากเป็นไปได้ ดังนั้นเพื่อเหตผลทางกลยุทธ์ดังกล่าว ผมจึงต้องการทำให้แน่ใจว่าพวกเราจะยังคงอยู่ ไม่ใช่ในธุรกิจสมาร์ทโฟน แต่เป็นในธุรกิจการสื่อสาร”

    การปรับโครงสร้างของ Sony ดูกำลังออกดอกออกผล โดยได้รายงานออกมาในผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ที่นักวิเคราะห์เรียกมันว่า “ผลประกอบการที่ดีแบบถล่มทลาย” (blowout results) และผลดังกล่าวยังแสดงแนวโน้มออกมาว่าปีนี้ผลกำไรจะสูงขึ้นถึง 20% ซึ่งดูจะเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ยอดเยี่ยมสำหรับองค์กรที่เคยขาดทุน 3 พันล้านปอนด์ (132,494.47 ล้านบาท) เมื่อตอนที่นายฮิราอิรับตำแหน่ง

แต่เขาก็ไม่ชะล่าใจ: “นี่ไม่ใช่เวลาที่จะฉลองความสำเร็จ เพราะพวกเรายังคงมีอีกไตรมาสหนึ่งรออยู่ก่อนจะสิ้นสุดปีการเงินนี้ พวกเราจะต้องทำให้แน่ใจว่าพวกเราจะสามารถแตะยอดเหล่านั้นหรือทำให้ดียิ่งกว่า นั่นคืองานแรก งานที่สองคือทำให้แน่ใจว่าพวกเราจะไม่ตกหน้าผาในปีหน้าเหมือนที่เราเคยทำมันในอดีต”

    แม้นายฮิราอิอาจจะไม่เชื่อว่าสมาร์ทโฟนคืออนาคต แต่การโฟกัสของเขาสำหรับปี 2018 ยังคงเป็นผลกำไรที่ยั่งยืน Sony ยังคงเปิดกว้างสำหรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่ว่ามันจะนำไปสู่เส้นทางใด

    “พวกเราจำเป็นต้องทำให้แน่ใจว่า พวกเรามีการริเริ่มการลงทุนสำหรับธุรกิจในอนาคตอย่างสม่ำเสมอ ทั้งในด้านของเทคโนโลยีและโมเดลธุรกิจต่างๆ เพื่อที่บริษัทจะอยู่ในสภาพที่ดียิ่งกว่าเดิมเมื่อตอนที่พวกเราส่งต่อให้กับคนรุ่นถัดไป” นายฮิราอิกล่าว

 

ที่มา: The Guardian

ขอบคุณที่ร่วมแสดงความรู้สึกของคุณต่อบทความนี้ อย่าลืมที่จะแชร์ให้คนอืนได้รู้ความรู้สึกนี้ .
บอกให้เรารู้ถึงความรู้สึกหลังจากที่คุณได้อ่านบทความนี้
  • ประทับใจสุดๆ
  • ดีจังเลย
  • โกรธสุดๆ
  • เฉยๆ อ่ะ
  • รู้สึกหดหู่