หลังจากเปิดตัวอย่างเงียบๆในงาน IFA 2017 ที่ผ่านมา แม้ว่าจะไม่ได้มีโอกาสขึ้นเวทีกับรุ่นพี่อย่าง Xperia XZ1 หรือ Xperia XZ1 compact แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะเป็นสมาร์ทโฟนที่ไม่มีความน่าสนใจ เพราะว่ามันมาพร้อมกับเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือ หน้าจอและแบตที่ใหญ่ขึ้น อึดขึ้น ในราคาหมื่นต้นๆเท่านั้น ถ้าเริ่มสนใจแล้วล่ะก็ ไปดูกันดีกว่าว่า Xperia XA1 Plus นั้นจะมีอะไรเด็ดๆบ้าง

   ตัวกล่องยังคงคอนเซ็ปเดิมตั้งแต่รุ่นล่างถึงเรือธง จะเป็นแพคเกจกล่องแข็งสีขาวขนาดพอๆกับตัวสมาร์ทโฟน โดยเมื่อเปิดออกมาจะพบกล่องด้านในอีกชั้นเป็นลวดลาย Loop Surface ที่จะใช้เป็นธีมของ Xperia ในปีนี้ อุปกรณ์ที่แถมมาภายในกล่องเป็นอุปกรณ์พื้นฐานการใช้งานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหูฟัง, สาย USB type-A to type-c และหัวอะแดปเตอร์ชาร์จไฟ

   ตัวเครื่องยังคงมาในแนวดีไซน์ Loop Surface เช่นเดียวกับรุ่นเรือธง โดยวัสดุหลักจะเป็นโพลีเมอร์ มาพร้อมกับหน้าจอขนาด 5.5 นิ้ว ความละเอียด Full-HD 1080p ใช้วัสดุเป็นกระจก Corning® Gorilla® Glass ที่ทนต่อแรงกระแทกในระดับนึง มาพร้อมกับกล้องหน้าความละเอียด 8MP

   ด้านหลังจะใช้วัสดุหลักเป็นโพลีเมอร์ โดยงานประกอบจะคล้ายๆกับ Xperia XA บิดเครื่องดูไม่ได้ยินเสียงกรอบแกร๊บ ถือว่าแน่นหนาพอสมควร ด้านหลังเป็นผิวแบบด้าน ทำให้ไม่ค่อยเจอปัญหาเรื่องรอยนิ้วมือในการใช้งาน แต่ถ้าใช้งานโดยไม่ใส่เคสอาจต้องระวังเรื่องรอยขนแมว ทั้งนี้ตัวเครื่องมาพร้อมกับกล้องหลังความละเอียด 23MP Exmor RS™ ตัวเดียวกับที่ใช้ใน Xperia Z5 Series

   ฝั่งขวาจะเป็นตำแหน่งปุ่ม Power ซึ่ง Xperia XA1 Plus จะเป็นรุ่นกลางตัวแรกที่มาพร้อมกับเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือ โดยจะเป็นตัวเดียวกับที่ใช้ใน Xperia XZ1 ทำให้ความเร็วในการสแกนนั้นเร็วพอๆกับรุ่นเรือธง ส่วนปุ่มเพิ่ม / ลด เสียงนั้นก็ถูกย้ายไปอยู่ด้านบนแล้ว ล่างสุดจะเป็นปุ่มชัตเตอร์สองจังหวะ

   ฝั่งซ้ายจะมีแค่ช่องใส่ SIM และ Micro SD Card โดยในรุ่นนี้จะรองรับการใช้งาน 2 SIM

   เมื่อถอดถาดซิมออกมาก็จะพบว่าช่องใส่ SIM จะแยกสล็อตกับ Micro SD Card โดยจะเป็นช่องใส่ SIM1&2 เป็นถาดเดียวกับติดกับฝาปิดพอร์ต ส่วน Micro SD Card นั้นจะใส่เข้าตัวเครื่องโดยตรง ตรงนี้ถึงแม้จะมีฝาปิดพอร์ตมาแต่ว่า Xperia XA1 Plus นั้นไม่กันน้ำนะครับ อย่าเผลอเอาไปจุ่มน้ำเชียวล่ะ

   ด้านบนจะเป็นไมค์ตัวที่ 2 สำหรับตัดเสียงรบกวนหรือใช้ในการบันทึกเสียงแบบสเตอริโอ ส่วนข้างๆจะเป็นช่องหูฟังขนาด 3.5 mm

   ด้านล่างจะเป็นช่อง USB แบบ Type-C ส่วนข้างๆของจะเป็นลำโพงแบบตัวเดียว (Mono) แต่เสียงได้ที่นั้นดังใช้ได้แต่ยังขาดอิมแพค เสียงที่ได้จะออกแนวดังกังวานมากกว่า

   เซ็นเซอร์สแกนนิ้วที่เพิ่มขึ้นมาก็จะใช้เป็นแบบใหม่ที่เป็นสีเดียวกับตัวเครื่อง

   ส่วนความบางอาจจะหนากว่าพี่น้องตระกูล Xperia XA Series ด้วยกัน แต่ยังถือว่าจับได้สะดวกมืออยู่ และด้วยความที่ตัวเครื่องมีขนาดเพิ่มขึ้นพอสมควรเนื่องจากจอที่ใหญ่ขึ้น ทำให้อาจถือเล่นมือเดียวไม่ถนัดเท่าไร

   ดีไซน์โดยรวมของ Xperia XA1 Plus นั้นก็ไม่ต่างจากพี่น้องในตระกูลเดียวกันมากนัก เรียกว่าเป็นเหมือน Xperia XA ที่โดนเอาไปยืดให้ใหญ่ขึ้นเป็นจอ 5.5 นิ้วเลยก็ว่าได้ แต่งานประกอบที่ดูแน่นหนาบวกกับดีไซน์ Loop Surface ที่ทำให้โทรศัพท์นั้นดูโค้งมนจับถนัดมือก็ทำให้มันดูสวยงามกว่ารุ่นก่อนๆเหมือนกัน

   แน่นอนว่ารุ่นกลางของ Sony ก็จะต้องมาพร้อมกับชิปเซ็ต MediaTek helio P20 แบบ Octa Core ประสิทธิภาพการใข้งานโดยรวมถือว่ารองรับการใช้งานที่ต้องใช้ประสิทธิภาพเครื่องสูงๆได้อย่างดี แม้คะแนน Benchmark จะด้อยกว่าทาง Snapdragon อยู่บ้าง

Specification

  • SoC MediaTek Helio P20 Octa Core 64 บิต (Quad core 2.3GHz + Quad core 1.6GHz)
  • RAM 4GB , ROM 32GB แบบ eMMC รองรับ MicroSDXC Card สูงสุด 256 GB
  • หน้าจอ IPS LCD Display 5.5” ความละเอียด Full-HD 1080p รองรับ Image enhancement, Super-vivid mode มาพร้อมกระจกหน้าจอแบบ Corning® Gorilla® Glass 4
  • กล้องหลัง 23MP 1/2.3” Exmor RS™ (24mm wide F2.0) สามารถดัน ISO ได้สูงสุด 6400 รองรับ Hybrid Autofocus, Fast Capture, HDR photo และระบบกันสั่น SteadyShot™
  • กล้องหน้า 8MP 1/4“ Exmor R for mobile™ ISO สูงสุด 3200 ในที่แสงน้อย เลนส์มุมกว้าง 23mm wide-angle lens F2.0 มีระบบ Auto Focus และรองรับระบบกันสั่น SteadyShot™
  • ขนาดตัวเครื่อง 155 x 75 x 8.7 mm. น้ำหนัก 190g
  • รองรับการใช้งาน 2SIM
  • ระบบเชื่อมต่อ A-GNSS (GPS + GLONASS)2, WiFi Miracast, เทคโนโลยีไร้สาย Bluetooth® 4.2, Google Cast, NFC
  • พอร์ตเชื่อมต่อเป็นแบบ USB Type-C (2.0)
  • แบตเตอรี่ขนาด 3,430 mAh มาพร้อมกับเทคโนโลยี Qnovo Adaptive Charging, Battery care ที่ช่วยยืดอายุแบต กับ STAMINA mode และรองรับระบบชาร์จเร็ว MediaTek PumpExpress 2.0
  • มี 4 สีให้เลือกคือ ดำ, น้ำเงิน, ทอง และ ชมพู

   หน้าจอจะเป็น IPS ขนาด 5.5 นิ้ว โดยมาพร้อมกับความละเอียด Full-HD 1080p ทำให้ภาพที่ได้คมชัดทุกมุมมอง แต่ถ้าเทียบกับรุ่นพี่อย่าง Xperia XZ1 ที่มีเทคโนโลยี TRILUMINOS Display นั้น ความสดใสของสีอาจจะดูด้อยกว่าเล็กน้อย แต่ก็ยังมีโหมด Image Enhance Technology มาให้เลือกปรับช่วยในการแสดงผลอยู่ ส่วนเรื่องความสว่างนั้น ทดสอบใช้กลางแดดแล้วอาจจะยังแสดงผลได้ไม่ดีนักเนื่องจากความสว่างของหน้าจอยังไม่สูงพอ

   เนื่องจากมาพร้อมกับชิปเซ็ตของ Mediatek helio P20 การใช้งานต่างๆลื่นไหล สามารถรองรับเกมที่มีกราฟฟิคสูงๆได้ (เปิด ROV แบบ High framrate ได้ด้วยนะ) มาพร้อมระบบชาร์จเร็ว Pump Express 2.0 แต่จะต้องใช่กับอะแดปเตอร์ที่รองรับฟีเจอร์นี้ด้วยนะครับ ไม่สามารถใช้ร่วมกับที่ชาร์จ Quick Charge ระบบของ Qualcomm ได้ โดยความเร็วในการชาร์จจะเร็วขึ้นกว่าเดิม ซึ่งสามารถชาร์จจาก 0-60% โดยใช้เวลาประมาณ 30 นาทีเท่านั้น

   นอกจากนี้เวลาที่เราเสียบสาย USB Type-C กับอุปกรณ์ต่าง ๆ นอกจากโหมด Charging only, Transfer files(MTP) และ MIDI แล้วยังเพิ่มเมนูใหม่คือ Power supply สำหรับให้มือถือเราเป็นตัวจ่ายไฟให้อุปกรณ์อื่นได้อีกด้วย

   โดยได้ลองทดสอบเล่นเกม ROV แบบเปิดโหมด 60FPS (High framerate) การเล่นลื่นไหลพอสมควร ตอนตะลุมบอลเอฟเฟคหนักๆ เฟรมเรตก็หล่นมาอยู่ที่ 27-29 fps ซึ่งก็ถือว่าความแรงของ Helio P20 นั้นยังรองรับการเล่นเกมในปัจจุบันได้ดี

   ทดสอบ Benchmark ต่างๆด้วยเครื่องที่ถูกจัดอยู่ในราคา Mid-range แต่สามารถทำคะแนนได้ที่ระดับ 60000+ ถือว่าได้สูงพอสมควร เรื่องเกมอาจไม่น่ากังวลหรือถ้าใช้งานทั่วไปเล่น Social หรือใช้แอปพื้นฐานต่างๆสามารถใช้งานได้ลื่นไหลแน่นอน ส่วนหน่วยความจำภายในเครื่องยังเป็น eMMC อยู่ (ยังไม่ตามมาใช้ UFS แบบรุ่นเรือธง) ทำให้สปีดในการเขียนอาจจะยังไม่สูงมากนัก

   GPS นั้นการจับสัญญาณอยู่ในเกณฑ์ดี ไม่มีอาการหลุดไปจากตำแหน่งที่อยู่ แต่ถ้าใช้นำทางบนท้องถนนเคยเจอบางครั้งอาจจะขึ้นโลเคชั่นอยู่ที่ฝั่งตรงข้ามของถนนแทน ซึ่งตรงนี้ถ้าใครใช้นำทางต้องดูให้ดีว่ามันหันถูกทิศทางที่เราอยู่หรือไม่ อาจจะพลาดสั่งให้เรา U-turn ง่ายๆ บางครั้งอาจใช้เวลาในการหา Location อยู่บ้าง แต่โดยรวมสามารถใช้มันนำทางได้ไม่มีปัญหาครับ

   เป็นตัวกลางตัวแรกที่ยกเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือจากรุ่นเรือธงมาใส่ โดยความเร็วเท่าที่ทดสอบ ไม่แตกต่างจาก Xperia XZ1 มากนัก (น่าจะเป็นเซ็นเซอร์ตัวเดียวกัน) สามารถบันทึกลายนิ้วมือได้สูงสุด 5 ลายนิ้วมือ สามารถบันทึกการวางนิ้วแนวไหนก็ได้

   กล้องยังเป็นตัวเดียวกับที่ใช้ใน Xperia XA1 Series คือเซ็นเซอร์ Exmor RS™ รุ่น IMX-300 ที่ใช้ในเรือธง Xperia Z5 เดิม แต่ไม่มีหน่วยประมวลผลภาพ BIONZ และไม่ได้ใช้ G Lens ในการผลิต แต่สเปคนอกเหนือจากนั่นเหมือนกันหมด คือความละเอียดเซ็นเซอร์จะอยู่ที่ 23MP ขนาด 1/2.3”

   เลนส์ที่ใช้จะเป็นเลนส์มุมกว้าง 24mm. มีค่ารูรับแสงอยู่ที่ F2.0 รองรับการดัน ISO สูงสุดที่ ISO6400  ในโหมดภาพนิ่ง และ ISO3200 ในโหมดวีดีโอ โดยฟีเจอร์ต่างๆที่ Xperia Z5 มีก็ยังถูกยกมาใส่ครบไม่ว่าจะเป็นระบบโฟกัสอัตโนมัติ Hybrid Auto Focus ทำให้โฟกัสวัตถุต่างๆได้รวดเร็ว, Quick Launch & Capture สำหรับการเข้าโหมดกล้องอย่างรวดเร็วหรือการซูม 5 เท่าแบบไม่เสียรายละเอียด (เป็นการซูมแบบดิจิตอลแต่ยังได้ขนาดไฟล์ 23MP เท่าเดิมที่ 5 เท่า)

   ระบบกล้องถ่ายภาพยังมาพร้อมกับโหมด Superior Auto เช่นเดิม  โหมด สามารถปรับซีนได้ตามความเหมาะสมของสิ่งที่ถ่ายไม่ว่าจะเป็น Portrait, Macro, Back light หรือ Food ซึ่งแต่ละซีนก็จะทำการปรับแต่งสีและแสงให้อัตโนมัติเพื่อให้ภาพที่ได้มีโทนสีที่สวยงาม สามารถเลือกเปลี่ยนเป็นโหมดเป็น Manual, Video หรือใช้งานแอปกล้องต่างๆได้โดยการปัดมือเลื่อนขึ้น – ลง

   ภาพตัวอย่างจากกล้องหลังจะเห็นได้ว่าสามารถเก็บรายละเอียดสิ่งต่างๆได้ดีไม่ว่าจะเป็นต้นข้าวในนาซึ่งสามารถแสดงแสงเงาไล่โทนมืดไปสว่างได้ชัดเจน

   เลนส์กล้องหลังที่ใช้จะเป็นเลนส์แบบกว้าง 24mm ที่รูรับแสง F2.0  สามารถถ่ายภาพแบบ Landscape ได้สบาย แต่สำหรับภาพบุคคลนั้น ด้วยค่ารูรับแสงที่ไม่กว้างมากบวกกับเป็นเลนส์แบบกว้างทำให้อาจจะถ่ายแบบหลังละลายไม่มาก ถ้าต้องการให้หลังละลายอาจจะต้องถ่ายแบบ Close up นำกล้องเข้าไปใกล้ๆตัวแบบหรือวัตถุที่ต้องการถ่าย

   การถ่ายภาพย้อนแสงนั้นโหมด HDR สามารถช่วยในการเก็บรายละเอียดส่วนที่มืดได้เป็นอย่างดี

   โหมด Manual สามารถปรับสปีดชัตเตอร์ได้แล้วที่ 1/4000 จนถึง 1 วินาที สามารถเลือกระยะโฟกัสได้ ปรับ White Balance และค่าชดเชยแสงที่เมนูกล้องได้เลย โดยรวมยังไม่มีอะไรปรับปรุงใหม่ ยังไม่สามารถปรับ ISO พร้อมกับ Speed shutter เหมือนใน Xperia XZ1 ได้ โดยรวมการใช้งานกล้องในโหมดนี้จะยังคงคล้ายๆเดิม

   ด้านล่างจะเป็นตัวอย่างภาพจากกล้องหลัง โดยภาพจะถูกย่อขนาดลงเหลือ 1.6MP เพื่อไม่ให้ไฟล์ใหญ่เกินไป

ตัวอย่างวีดีโอ 1080p 30FPS เปิดโหมดกันสั่น Steadyshot

   กล้องหน้าจะมีความละเอียด 8MP 1/4“ Exmor™ R ISO สูงสุดที่  ISO3200 ในที่แสงน้อย เลนส์มุมกว้าง 23mm wide-angle lens F2.0 มีระบบ Auto Focus และรองรับระบบกันสั่น SteadyShot™ มีระบบ Auto focus ที่กล้องหน้าด้วยนะ แต่การทำงานอาจจะยังไม่เร็วมาก และยังรองรับ face detection (ระบบติดตามใบหน้า) ด้วยซึ่งจากที่ลองถ่ายมาก็จับได้แม่นยำอยู่พอสมควร

   ตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้องหน้า ลองถ่ายแบบย้อนแสงก็สามารถถ่ายได้ปกติโดยที่หน้าไม่มืด ส่วนการใช้งานกล้องหน้าโดยรวมยังเหมือนกับตัวอื่นๆ มีโหมด Soft skin สำหรับทำให้หน้าดูเนียนมาให้ แต่ยังไม่สามารถปรับระดับความเนียนได้เหมือนเดิมครับ

   เครื่องที่เราได้รับมารีวิวยังมาพร้อม Android 7.0 อยู่ (คงได้อัพ 8.0 Oreo ในช่วงต้นปี 2018) โดย UI นั้นจะมาในสไตล์ Xperia launcher ที่เป็นเอกลักษณ์ของโซนี่ (แม้หลังๆจะปรับปรุงให้ไปแนวทางเดียวกับ Pure Google แล้วก็ตาม) หลายๆส่วนที่ถูกปรับปรุงจากรุ่นก่อนๆเช่นไอคอนหลายๆส่วนที่ถูกปรับให้กลมแล้ว

   หน้าจอ Lock Screen ได้เปลี่ยนใหม่เป็นแค่การสไลด์ธรรมดา ไม่มีลูกเล่นอะไร แต่เพิ่ม Widget Clock ตัวใหม่เช่นเดียวกับ Xperia XZs ที่ดูสวยงาม หน้า Home Screen ยังเป็นรูปแบบเดิม สามารถกดค้างเพื่อจัดการเพิ่ม/ลบหน้าหรือเพิ่ม Widget การตั้งค่าต่าง ๆ ของ Home Screen สามารถเข้าไปตั้งค่าได้จากส่วนนี้ สามารถตั้งค่าให้เลื่อนซ้ายสุดเป็น Google Now ได้

   App drawer จะคงรูปแบบไอคอนที่ 4×5 ปัดซ้ายขวาเพื่อเปลี่ยนหน้าแอพ  Search app จะอยู่ด้านบน ด้านซ้ายสุดจะเป็นส่วนของการค้นหาแอปและแนะนำแอปที่เราน่าจะใช้ สามารถลากแอปมารวมกันเป็นโฟลเตอร์เพื่อง่ายต่อการค้นหาใช้งานได้ หน้า Recent apps ยังสามารถเลือกสลับแอปไปมาได้เหมือนเดิม สามารถกดปุ่ม Clear all เพื่อปิดแอปทั้งหมดได้ ส่วน notification ยังคงรูปแบบเดิม ลากลงมาอีกครั้งเพื่อเข้าสู่โหมด Quick setting ได้ สามารถกดปุ่ม recent app ค้างเพื่อเข้าสู่โหมดแบ่ง 2 หน้าจอได้ แต่ปัจจุบันแอปที่รองรับโหมดนี้ยังไม่ครอบคลุมนัก

   Contact และโทรศัพท์ยังคงรูปแบบเดิมไว้ สามารถ Sync รายชื่อจากบัญชี Gmail ของเราลงมาได้ สามารถเพิ่มชื่อ หรือมาร์ค Favorites คนที่โทรหาบ่อยหรือจะตั้งกลุ่มรายชื่อ Messages สามารถเลือกส่งเป็นกลุ่มได้สะดวกขึ้น ส่วนคีย์บอร์ดในเครื่องจะเป็นแอป SwiftKey โดยมีข้อดีที่ปรับขนาดคีย์บอร์ดได้, แถบเดาคำ และจะเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ ๆ จากที่เราพิมพ์และคอยแก้ไขให้ถูกต้องตลอด, สามารถ Cut หรือ Copy คำที่เราใช้งานบ่อยปักหมุดไว้ได้ด้วย สะดวกไม่ต้องคอยพิมพ์ซ้ำ และสามารถเปลี่ยนธีมคีย์บอร์ดได้ด้วย ส่วนอีกสิ่งหนึ่งที่เพิ่มขึ้นมาคือมีระบบสติ๊กเกอร์ให้ส่งกันผ่าน Messages ได้แล้วมีทั้งแบบฟรีและเสียตัง Calander ได้เพิ่มลายกราฟิกสวย ๆ และไฮไลท์วันสำคัญและคิวนัดต่าง ๆ ในแต่ละเดือน ดูสวยงามกว่าเดิม

   Music เปลี่ยนฉากหลังหน้า Player ให้เป็นการละลายปกอัลบั้มแทนการใช้สีแบบเดิม สามารถเลือนนิ้วจากมุมซ้ายเพื่อเข้าสู่เมนูต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Play queue, Albums, Song, Playlist หรือ Setting โดยสามารถเลือกดาวน์โหลดข้อมูลเพลงผ่าน Download Music info ได้ ในส่วนของ Audio Settings จะเป็นการเลือกเปิดฟังก์ชั่นต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น xLOUD, ClearAudio+, Dynamic normaliser, ในส่วนของ Sound Effect สามารถเลือกตั้งค่า Equalizer หรือเลือกระบบเสียงต่าง ๆ ของหูฟังได้ ในส่วนของ Accessory จะเป็นตัวเลือกของอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ สามารถตั้งค่า Sleep timer ได้แล้ว และยังรองรับ FM Radio และ Spotify ด้วยนะ

   Album สามารถเลือกดูภาพโดยรวมหรือแยกดูแต่ละโฟลเดอร์ก็ได้ การเลือกดูรูปหลายรูปหรือทีละ 3 รูป 2 รูปในหนึ่งแถวทำได้ง่ายเพียงแค่ลากนิ้วกางเข้า/ออก หรือสามารถเลือกดูภาพแบบ Slideshow ก็ได้ รองรับการแชร์ภาพกับ Facebook, Picasa และ Flickr รองรับฟีเจอร์ Home Network

   Video สามารถตั้งค่าให้เล่นแบบ Background playback และเปิด Subtitle ได้ และได้เพิ่ม Home Network เข้ามาในแอปเลย ด้านการตัดต่อวีดีโอยังมาพร้อมกับแอป Movie Creator เพื่อสามารถสร้างวีดีโอสไลด์ภาพเกร๋ ๆ โชว์เพื่อนก็ได้ ผมชอบฟังก์ชั่นที่มันจะจับภาพทุก 1 อาทิตย์หรือ 1 เดือนมาทำวีดีโอให้เราได้ดู

   Settings ถูกปรับให้หลาย ๆ เมนูที่เคยอยู่ในหมวดออกมาอยู่ด้านหน้าเลย เพื่อความสะดวกในการเข้าถึง และเพิ่มกราฟิกสวย ๆ ขึ้นมาในแต่ละเมนูเพื่อสื่อให้เราเข้าใจง่ายมากยิ่งขึ้น สามารถเลือกเปลี่ยนธีมต่างๆได้ โดยจะมีทั้งธีมฟรีและเสียตังให้เลือกโหลดกันบน Play Store เลย ส่วนหน้าจอก็สามารถเลือกปรับค่าได้มากขึ้นสามารถเลือกปรับความใหญ่ของ UI ให้ใหญ่ขึ้นอีกได้ซึ่งสะดวกสบายสำหรับผู้ที่มีปัญหาทางสายตา โหมด Image enhancement ซึ่งสามารถปรับได้สองอย่างคือจะปรับให้เพิ่มรายละเอียดและสีในการแสดงผลให้ดีขึ้น หรือจะปรับเป็น Super-vivid mode เพื่อให้สีที่แสดงดูฉูดฉาด สวยสดงดงามก็ได้

   Notification สามารถตั้งค่าได้ละเอียดกว่าเดิมชนิดที่ว่าเลือกไปตั้งค่าแต่ละแอปกันได้เลย Smart cleaner ที่จะเพิ่มความฉลาดในการจัดการแรม โดยจะช่วยปิดโปรแกรมที่เราไม่ได้ใช้นาน และกำจัดไฟล์ขยะและ cache ต่าง ๆ โดยมีฟังก์ชั่นใหม่เพิ่มเข้ามาอย่าง Transfer data  ที่สามารถเลือกได้ว่าจะย้ายข้อมูลแบบไหนไปเก็บบน SD Card และ Choose items to remove ที่มันจะคอยสอดส่องว่าข้อมูลไหนที่เราไม่ได้ใช้มานานเกิน 30 หรือ  90 วันแล้วและจัดการให้ โดย RAM 4GB ของเครื่องผมลองลงแอปตามที่ใช้งานในแต่ละวันเกือบหมดแล้วก็พบว่ายังเหลือ RAM ให้ใช้งาน 1.6MB นับว่าเยอะเลยทีเดียวสำหรับรุ่นกลางอย่าง Xperia XA1 Ultra

   Battery ยังคงมาพร้อมกับโหมดประหยัดพลังงาน STAMINA Mode เช่นเคย โดยมีทั้งแบบธรรมดาและ Ultra STAMINA mode สำหรับการประหยัดแบตสุดขีดอีกด้วย แต่มันจะตัดการเชื่อมต่อทุกอย่างทำให้เราเหมือนแค่ใช้โทรศัพท์โทรเข้าออกได้เฉย ๆ นอกจากนี้ยังสามารถเลือก STAMINA Level ได้ด้วย โดยมีทั้งหมด 3 ระดับด้วยกันคือ

  • Battery time preferred จะปิดการทำงานเกือบทุกอย่าง คล้าย ๆ กับ Ultra STAMINA Mode แต่จะยืดแบตได้ยาวนานที่สุด
  • Balanced power saving จะทำการปิดแค่บางฟีเจอร์เท่านั้น แต่ยังใช้งานโดยรวมทั่วไปได้ปกติอยู่ อาจลดความแรงของเครื่องลงนิดหน่อย
  • Device performance preferred จะปิดการทำงานแค่บางฟังก์ชั่นเท่านั้น แต่จะประหยัดแบตน้อยสุดใน 3 ระดับที่เกริ่นมา
  • Smart Stamina จะจัดสรรพลังงานของคุณให้ล่วงหน้า ทำให้สามารถบริหารจัดการแบตเตอรี่ให้อยู่ได้ทั้งวัน และยังมาพร้อมเทคโนโลยี Qnovo Adaptive Charging โดยเทคโนโลยีที่ว่านี้จะทำการ monitor สุขภาพของแบตเตอรี่ พร้อมปรับกระแสไฟในขณะชาร์จให้เข้ากัน ซึ่งจะช่วยยืดอายุขัยของแบตเตอรี่ได้กว่า 2 เท่า

   Device connection รองรับฟังก์ชั่นการทำงานต่างๆไม่ว่าจะเป็น Screen mirroring ซึ่งจะสตรีมภาพจากมือถือไปยังทีวีแบบไร้สาย หรือ Google Cast ได้ครบถ้วน Assist ที่ปรับปรุง UI ให้น่าใช้มากยิ่งขึ้น โดยจะรวมเมนูต่างๆไม่ว่าจะเป็นการเริ่มต้นใช้งานเครื่อง (Introduction to Xperia) หรือเทคนิคการใช้งานต่างๆ (Xperia Tips) และโหมดใหม่ที่เพิ่มเข้ามาอย่าง Xperia Actions ซึ่งช่วยปรับแต่งค่าการทำงานของสมาร์ทโฟนให้เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ เพื่อให้คุณใช้ชีวิตในแต่ละวันได้อย่างง่ายดายยิ่งขึ้น โดยสามารถเลือกตั้งค่าการใช้งานให้เข้ากับชีวิตเราได้มากยิ่งขึ้น โดยจะแบ่งเป็นตอนต่างๆเช่นเรานอน, ทำงาน หรือเวลาเรานั่งเครื่อง ช่วยให้สามารถใช้งาน Xperia ในสถานการณ์ต่างๆโดยที่ไม่ต้องคอยมาตั้งค่าตลอดเวลา

   Xperia XA1 Plus นั้นถือเป็นการออกมาปิดซีรี่ย์ XA1 ให้สมบูรณ์ ตัวเครื่องถูกวางตำแหน่งเป็นสมาร์ทโฟนรุ่นกลางที่มีจอใหญ่ขนาดระหว่าง Xperia XA1 กับ Xperia XA1 Ultra และมีแบตเตอรี่ความจุค่อนข้างสูง ซึ่งจากการใช้งานมาก็ยอมรับว่าแบตมันอึดจริงๆ ใช้เล่นเกมหรือคุยโทรศัพท์ เล่นโซเชียลมีเดียทั่วไปก็สามารถใช้งานได้เต็มวันสบายๆ ด้านสเปคของตัวเครื่องก็จัดว่าไม่ได้ด้อยกว่ารุ่นอื่นสามารถใช้งานได้อย่างลื่นไหล แต่ถ้ามีก็จะเป็นเรื่องของขนาดตัวเครื่องที่อาจจะดูใหญ่และแอบหนักไปสักนิดนึง อาจจะทำให้ใครที่มือเล็กอาจใช้งานมือเดียวได้ลำบาก

   สำหรับราคาขายของตัวนี้เปิดตัวอยู่ที่ 10,990 บาทเท่านั้น เรียกว่าถูกมากเทียบกับฟีเจอร์ที่ได้ สามารถหาซื้อได้ตาม Sony shop ทั่วไปสำหรับใครที่ได้มาครอบครองแล้วกำลังหาเคสหรืออุปกรณ์เสริมไว้ใช้งานคู่กับ Xperia XA1 Plus นั้นสามารถเข้าไปเลือกกันได้ที่ Shop SE-Update ได้เลยนะครับ 🙂

ขอบคุณที่ร่วมแสดงความรู้สึกของคุณต่อบทความนี้ อย่าลืมที่จะแชร์ให้คนอืนได้รู้ความรู้สึกนี้ .
บอกให้เรารู้ถึงความรู้สึกหลังจากที่คุณได้อ่านบทความนี้
  • ประทับใจสุดๆ
  • ดีจังเลย
  • โกรธสุดๆ
  • เฉยๆ อ่ะ
  • รู้สึกหดหู่