บทความก่อนหน้า: บุกโตเกียวเจาะลึกจุดเด่นของ Xperia XZ3: หน้าจอ OLED 2K HDR รุ่นแรกจาก Sony

    ePrice เว็บไซต์ข่าวเทคโนโลยีชื่อดังของไต้หวันได้ถูกเชิญให้เดินทางไปยังสำนักงานใหญ่ของ Sony ในกรุงโตเกียวเพื่อไปฟังการบรรยายจาก Sony ว่าผลิตภัณฑ์ใหม่ล่าสุดของพวกเขามีดีอย่างไรบ้าง โดยในบทความตอนนี้เราจะพาไปดูเบื้องหลังการออกแบบ UI และ Side Sense บน Xperia XZ3 ซึ่งเป็นจุดเด่นที่แตกต่างจากสมาร์ทโฟนรุ่นก่อนๆของพวกเขา ซึ่งเป็นอานิสงส์จากการเปลี่ยนมาใช้หน้าจอ OLED ทำให้ Sony สามารถนำลูกเล่นเหล่านี้มาใส่ลงไป

เบื้องหลัง “Side Sense” เมนูลัดที่ทำงานด้วย AI

    หากพูดถึงการสั่งงานต่างๆด้วยขอบข้าง หลายๆคนอาจจะนึกถึงฟีเจอร์ Edge Sense ของ HTC ซึ่งหลายๆคนที่ได้ยินชื่อ Side Sense ก็เข้าใจผิดว่ามันจะเหมือนๆกัน แต่เมื่อได้มาลองสัมผัสดูแล้วก็จะพบว่าฟีเจอร์ทั้ง 2 นั้นไม่เหมือนกันเลย ของ Sony จะทำงานเมื่อมีการแตะบริเวณขอบที่โค้งของหน้าจอโดยใช้คุณสมบัติของจอ OLED ที่สามารถตรวจจับการสัมผัสได้ตลอดเวลา แต่ของ HTC จะใช้การบีบที่ขอบข้างของตัวเครื่อง

▲ วิศวกรซอฟต์แวร์ของ Sony อธิบายเบื้องหลังการออกแบบฟีเจอร์ Side Sense

▲ เนื่องจากหน้าจอของสมาร์ทโฟนในปัจจุบันใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ในการใช้งานมือเดียว ผู้ใช้มักจะพบความลำบากในการเอื้อมไปกดปุ่ม Navigation bar ด้านล่างหรือลากแถบ Notification ด้านบนลงมา แล้วจะทำอย่างไรให้การใช้งานเพียงมือเดียวไม่ลำบากล่ะ? นี่คือโจทย์หลักของพวกเขาในการออกแบบ Side Sense

▲ เพียงแค่แตะที่ขอบหน้าจอ 2 ครั้ง หน้าต่างเมนูลัดแอปที่ใช้บ่อยและสวิตช์เปิด-ปิดการตั้งค่าต่างๆก็จะโผล่ออกมา หรือถ้าลากนิ้วโป้งจากบริเวณขอบจอลงล่างก็จะเป็นคำสั่งเหมือนกับการกดปุ่ม “back”

▲ ในส่วนของหน้าจอ ระบบจะทำการตรวจจับตำแหน่งการจับเครื่องของผู้ใช้อยู่ตลอดเวลา โดยมันจะรู้ตำแหน่งมือของผู้ใช้ ซึ่งนี่เป็นความสามารถที่ทำได้บนจอ OLED เท่านั้น

    4 รูปข้างล่างนี้เป็นภาพที่ทาง ePrice ได้ทดลองถือเครื่อง Prototype ที่มีการแสดงให้เห็นการทำงานของ Side Sense จะเห็นได้ว่ามีแถบสีเขียวบริเวณตำแหน่งที่มือจับอยู่ นี่แสดงให้เห็นว่าตัวเครื่องมันสามารถรับรู้ได้ว่าผู้ใช้จับเครื่องในบริเวณใด ดังนั้นเครื่องก็จะรู้ว่าบริเวณไหนจะเป็นจุดที่ผู้ใช้จะเรียกใช้งาน Side Sense

▲ ไม่ว่าจะถือด้วยมือข้างใด ถือสูงหรือถือต่ำ Xperia XZ3 จะรับรู้ได้ทั้งนั้น

▲ สำหรับคนที่ได้จับครั้งแรกอาจจะยังไม่ค่อยคุ้นชินกับจังหวะการแตะ 2 ครั้งของฟีเจอร์นี้ ดังนั้นตอนที่ออกแบบ ทาง Sony จึงได้ทำการสำรวจความเร็วการแตะ 2 ทีของผู้ใช้ส่วนใหญ่เพื่อใช้ในการกำหนดช่วงเวลาความห่างในการแตะ ทว่าย่อมมีบางคนที่ถนัดการแตะช้าๆมากกว่า ดังนั้น Sony จึงได้ใส่ตัวเลือกการปรับความเร็วในการตรวจจับการเรียกใช้งาน Side Sense มาในหน้าตั้งค่าเพื่อให้เลือกปรับได้ตามใจชอบ

    นอกจากเรื่องการตรวจจับการสัมผัสแล้ว Sony ยังได้ใส่เทคโนโลยี AI เข้ามาในระบบ Side Sense อีกด้วย “Prediction Engine” คือการใช้เทคโนโลยี Deep learning เข้ามาเรียนรู้พฤติกรรมการใช้งานของผู้ใช้ โดยมันจะจดจำการใช้งานของผู้ใช้และนำไปวิเคราะห์ร่วมกับเงื่อนไขด้านสถานที่และเวลา เพื่อคาดเดาแอปและตัวเลือกการตั้งค่าที่คาดว่าผู้ใช้จะเรียกใช้แล้วแสดงทางลัดเข้าแอปหรือการตั้งค่านั้นๆเมื่อผู้ใช้เรียกใช้ Side Sense

▲ ด้วยการประมวลผลของระบบ Prediction Engine เมื่อผู้ใช้แตะขอบจอ 2 ทีเพื่อเรียกหน้าต่าง Side Sense ออกมา ผู้ใช้จะพบกับไอคอนแอปที่ตนเองคิดจะเรียกใช้งานทันที

▲ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อตื่นนอนในตอนเช้า เพียงเรียกหน้าต่าง Side Sense ขึ้นมา ก็จะพบกับแอปปฏิทิน สภาพอากาศ ข่าว อีเมล ฯลฯ

▲ หรือถ้าเป็นคนที่ชอบเช็ค Facebook, SMS หรือถ่ายรูปตอนกลางวัน เมื่อเรียกใช้ Side Sense ในช่วงพักเที่ยง ก็จะพบทางลัดเข้าแอปเหล่านั้น

▲ หลังกับถึงบ้านชอบดู YouTube เล่นเกม หรือท่องอินเตอร์เน็ต Xperia XZ3 จะบันทึกพฤติกรรมเหล่านี้เอาไว้ทั้งหมด ดังนั้นเมื่อใช้ไปนานแล้ว แอปที่เสนอขึ้นมาก็จะแม่นยำมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

 

▲ ตัวอย่างการทำงานของ Side Sense จะเห็นว่านอกจากจะใช้แตะเพื่อเรียกเมนูทางลัดได้แล้ว ยังสามารถแตะในแอปกล้องแทนการกดปุ่มชัตเตอร์หรือสไลด์นิ้วลงแทนปุ่ม “ย้อนกลับ” ได้อีกด้วย

เรียกใช้งานแอปได้รวดเร็วยิ่งขึ้นด้วย Always-on Display

    ฟีเจอร์ Always-on Display (หน้าจอเปิดอยู่ตลอดเวลา) ก็เป็นหนึ่งในข้อดีของการที่เปลี่ยนมาใช้หน้าจอ OLED ซึ่งเท่าที่ดูๆมา ลูกเล่นใหม่ๆของ Xperia XZ3 แทบจะเกี่ยวข้องกับหน้าจอ OLED ทั้งสิ้น ทาง ePrice ได้แอบสอบถาม Sony เป็นการส่วนตัวว่า “ในช่วงเวลาเพียงครึ่งปี ทำไมถึงเปิดตัวในนาม Xperia XZ3? ทำไมถึงไม่เป็น Xperia XZ2s ล่ะ?” คำตอบที่ได้รับก็คือ เพราะว่าความสามารถและการออกแบบของ Xperia XZ3 มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ทำให้ Sony คิดว่าควรจะนับว่าเป็น Gen ใหม่จึงจะถูกต้อง

    กลับมาพูดถึง Always-on Display กันต่อ ฟีเจอร์นี้ถือเป็นฟีเจอร์พื้นฐานของสมาร์ทโฟนหน้าจอ OLED ไปแล้ว ทว่า Always-on Display ของ Sony ยังได้เพิ่มความสามารถของ Side Sense เข้ามา ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องเข้าหน้า Home ก่อน ก็สามารถเรียกเมนู Side Sense ที่มีทางลัดเข้าแอปที่ Prediction Engine เอามาให้เลือกได้ในทันที  เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเรียกใช้งานแอปนั้นๆได้อย่างรวดเร็วยิ่งกว่าเดิม

▲ ในหน้าจอ Always-on Display ผู้ใช้สามารถวางสติ๊กเกอร์หรือรูปภาพได้ตามใจชอบ

▲ จะวางรูปภาพหรือสติ๊กเกอร์ที่มากับเครื่องตรงไหนก็ได้บน Always-on Display

▲ แปะสติ๊กเกอร์ AIBO ลงไป ทำให้ดูน่ารักดีเหมือนกันนะ

▲ ผู้ใช้ไม่เพียงสามารถวางภาพถ่ายที่ตนเองเลือกมา แต่ยังสามารถเลือกให้เครื่องสุ่มเปลี่ยนภาพอัตโนมัติไปเรื่อยๆก็ได้เช่นกัน แน่นอนว่า Prediction Engine ก็เป็นผู้เลือกรูปภาพเช่นกัน!

    สำหรับการนำ AI มาใช้ของ Sony นั้น ที่จริงก็เป็นสิ่งที่มีมาช้านานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งจะมาใช้ตามผู้ผลิตเจ้าอื่นๆที่อะไรๆก็เป็น AI เสียหมดในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ยกตัวอย่างเช่นเทคโนโลยีการชาร์จแบตเตอรี่ของพวกเขา Sony ได้ใส่เทคโนโลยี Qnovo Adaptive Charging เข้ามาพักใหญ่ๆแล้ว ซึ่งมันก็บันทึกพฤติกรรมการใช้งานแบตเตอรี่และการชาร์จแบตเตอรี่ของผู้ใช้ในระยะยาว เพื่อที่จะปรับปรุงการชาร์จให้แบตเตอรี่มีอายุขัยนานที่สุด หรือจะเป็นระบบการแยกแยะ Scene อัจฉริยะของแอปกล้องในโหมด Superior Auto เอง ก็มีมานานแล้วเช่นกัน ดังนั้นจึงพูดได้ว่า “Sony ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบ AI” เป็นคำพูดที่ไม่จริงอย่างที่สุด

    สำหรับบทความแนะนำเบื้องหลัง UI ของ Xperia XZ3 ก็จบลงเพียงเท่านี้ หวังว่าเพื่อนๆจะเข้าใจการทำงานของฟีเจอร์ Side Sense และระบบ Prediction Engine กันมากยิ่งขึ้น สำหรับบทความต่อไปเราจะพูดถึงดีไซน์การออกแบบของ Xperia XZ3 ที่บางลงได้เพราะหน้าจอ OLED (OLED อีกแล้ว !?) คอยติดตามอ่านกันได้ที่ SE-Update เช่นเคย

ที่มา: ePrice

บทความตอนถัดไป:
บุกโตเกียวเจาะลึกจุดเด่นของ Xperia XZ3: ไปทำอะไรมา ทำไมผอมลง?
บุกโตเกียวเจาะลึกจุดเด่นของ Xperia XZ3: ถึงกล้องเดี่ยว ก็เฟี้ยวไม่แพ้คู่

ขอบคุณที่ร่วมแสดงความรู้สึกของคุณต่อบทความนี้ อย่าลืมที่จะแชร์ให้คนอืนได้รู้ความรู้สึกนี้ .
บอกให้เรารู้ถึงความรู้สึกหลังจากที่คุณได้อ่านบทความนี้
  • ประทับใจสุดๆ
  • ดีจังเลย
  • โกรธสุดๆ
  • เฉยๆ อ่ะ
  • รู้สึกหดหู่