นายฮิโรกิ โทโตกิ ซีอีโอและประธานบริษัท Sony Mobile ได้เข้ามารับตำแหน่งปัจจุบันเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่บริษัทกำลังเผชิญกับปัญหายอดขายตกต่ำ ถูกตีตลาดด้วยแบรนด์ราคาประหยัดที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมูลค่าความเสียหายที่เกิดจากภาวะด้อยค่าของสินทรัพย์ (impairment charge) สูงถึง 1,500 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ (ประมาณ 50,863 ล้านบาท)

   มูลค่าความเสียหายดังกล่าวเรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่ฉุดงบการเงินของ Sony ในปี 2014 ทำให้ผู้บริหารระดับสูงต้องทำการตัดสินใจบางอย่างที่ยากลำบากอยู่หลายครั้งเพื่ออนาคตของบริษัท ประกอบกับการที่สมาร์ทโฟนต้นทุนต่ำของผู้ผลิตจากประเทศจีนเข้ามาแย่งส่วนแบ่งการตลาดไปไม่น้อย ทำให้ Sony Mobile ต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่

   นายโทโตกิ ถูกคัดมาด้วยมือของนายคาซูโอะ ฮิราอิ ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานบริษัท Sony เพื่อที่จะมอบหมายหน้าที่ในการกู้วิกฤตแผนกโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่กำลังป่วยหนัก โดยคาดหวังว่าเขาจะสามารถแก้ไขได้อย่างรวดเร็วและเห็นผล เรียกได้ว่านายโทโตกิงานเข้าตั้งแต่วันแรกที่ก้าวเข้ามาดำรงตำแหน่งเลยทีเดียว

   “ตลอดเวลาที่ผ่านมา ผมค่อนข้างจะงานยุ่งนะ” เขากล่าวด้วยสีหน้าแทบจะไร้อารมณ์ เมื่อถูกถามเกี่ยวกับการทำงานเดือนแรกๆ

   “มีคนบอกผมว่าผมจะได้เป็นซีอีโอของ Sony Mobile เมื่อ ประมาณเดือนตุลาคม ถ้าผมจำไม่ผิดนะ และยังบอกว่าบริษัทนี้จำเป็นต้องได้รับการกู้วิกฤตโดยเร็วที่สุด”

   “ดังนั้นผมก็เลยต้องทำงานหนักมาก และค่อนข้างจะยุ่ง แต่พนักงานก็ให้ความร่วมมืออย่างดีเยี่ยมและได้แสดงให้เห็นถึงพลังในการพลิกสถานการณ์นี้ ซึ่งก็เป็นเรื่องดี ผมมั่นใจว่าทุกอย่างจะดีขึ้นเรื่อยๆ”

Hiroki Totoki
   นายโทโตกิผู้สุขุม ใจเย็น และสุภาพอ่อนโยน ได้อุทิศตนเกือบ 30 ปีให้กับ Sony ได้ผ่านการทำหน้าที่ผู้บริหารในหลายๆตำแหน่งในบริษัท ซึ่งรวมถึงฝ่ายการวางแผนและการเงิน กลยุทธ์ การพัฒนา และนวัตกรรม นั่นทำให้เขามีความพร้อมในการรับตำแหน่งระดับสูงสุด เขาเคยได้รับการสรรเสริญเมื่อครั้งที่ทำงานใน So-net และ Sony Bank ซึ่งเป็นที่ที่ทำให้เขามีชื่อเสียงในด้านการปฏิรูปธุรกิจ ซึ่งนักวิจารณ์จำนวนมากคาดว่านี่คือสาเหตุที่ทำให้เขาได้เข้ามาคุมหัวเรือของ Sony Mobile

แต่ช่วงเวลาที่เขาก้าวเข้ามารับตำแหน่งและงานที่ล้นมือได้นำแรงกดดันและความคาดหวังจำนวนมหาศาลมาวางบนบ่าของเขาเช่นกัน แต่ดูเหมือนเขาจะสามารถแบกรับมันไว้บนบ่าได้อย่างง่ายดายด้วยประสบการณ์ของเขา

   แน่นอนว่าการทำให้บัญชีกลับมาอยู่ในแดนบวกคือภารกิจสำคัญที่สุดบนรายการสิ่งที่ต้องทำของเขา และเพื่อเป็นการลดต้นทุน ซีอีโอคนใหม่นี้ก็ได้ทำการตัดสินใจที่ห้าวหาญไปแล้วหลายครั้ง

   “พวกเรากำลังพยายามที่จะลดต้นทุนของเราลง 30% ภายในสิ้นปี 2016 และลดจำนวนพนักงานลง 20%” โทโตกิกล่าว

   อย่างที่ทราบกันดี Sony ได้ปรับลดพนักงาน 1,000 รายที่ศูนย์ R&D และการผลิต ณ ประเทศสวีเดนในระลอกแรก คำแถลงการณ์ในเดือนกุมภาพันธ์ได้ระบุว่า พนักงานจำนวน 2,100 รายในฝ่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่จะถูกปรับลดภายในสิ้นปี 2015

   “พวกเรากำลังพยายามทำให้องค์กรมีความทันสมัยมากขึ้น เช่นเดียวกันกับไลน์ผลิตภัณฑ์ของเรา เพื่อที่จะสร้างกำไรสูงสุดและเพิ่มค่าตอบแทนจากการลงทุน (ROI) ของเรา”

   โทโตกิกล่าวต่อ “พวกเราได้วางแผนเรียบร้อยแล้ว และกำลังเริ่มลงมือ ในปี 2015 นี้ เป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และเราจะพยายามทำให้การเปลี่ยนแปลงนี้เสร็จสิ้นภายในสิ้นปี และหวังว่าจะได้เห็นการพัฒนาไปในทางที่ดีในด้านการเงินภายในปี 2016”

   การที่ฝ่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ขาดทุนต่อเนื่องจึงทำให้เกิดข่าวลือ นายโทโตกิจึงต้องออกมาปฏิเสธข่าวลือที่ว่า Sony กำลังวางแผนจะขายแผนกโทรศัพท์เคลื่อนที่ การออกมาปกป้องบริษัทเช่นนี้ เขากล่าวว่ามันเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายมากเมื่อดูจากสาเหตุที่ทำให้ขาดทุน

   “ข่าวลือมันเกิดเพราะในปี 2014 เราขาดทุนอย่างหนักในธุรกิจโทรศัพท์มือถือ” เขากล่าว

   “โดยหลักๆแล้วมันมาจากการตัดบัญชีหนี้สูญ (write-off) ของค่าความนิยม (goodwill) ของสินทรัพย์ที่ด้อยค่าของเรา เมื่อตอนที่เราซื้อหุ้นกลับมาจาก Ericsson (ในปี 2012) พวกเราซื้อมันกลับมาทั้ง 100% และแน่นอนว่าราคานั้นมันสูง เราจึงต้องลงรายการในบัญชีต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง และนั่นทำให้เกิดการขาดทุนจำนวนมากในบริษัท”

   “แต่นี่เป็นเพียงการขาดทุนทางบัญชี และไม่ได้ส่งผลกระทบต่อกระแสเงินสดของเรา กระแสเงินสดของเรายังอยู่ในสถานะที่ยอดเยี่ยม แต่การขาดทุนทางบัญชีมันมหึมา นั่นก็เลยทำให้ผู้คนคาดการณ์ไปเองอย่างนั้น”

   “ก่อนจะเกิดข่าวลือนั่น เราได้ออกจากธุรกิจ VAIO ซึ่งเป็นธุรกิจคอมพิวเตอร์ส่วนตัว นั่นทำให้ผู้คนคิดไปว่า Sony จะออกจากธุรกิจสมาร์ทโฟนเช่นเดียวกัน แต่ธุรกิจสมาร์ทโฟนมันแตกต่างจากธุรกิจคอมพิวเตอร์ส่วนตัวมากๆ”

   “สมาร์ทโฟนเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่นทั้งหมด และยังเชื่อมต่อกับชีวิตของคนเรา ถึงขนาดฝังรากลึก และโอกาสในการสร้างความแตกต่างนั้นมันมหาศาล พวกเรากำลังมุ่งหน้าเข้าสู่ยุคของ “อินเตอร์เน็ตในทุกสิ่ง” (Internet of Things) และต้องสร้างผลิตภัณฑ์ในหมวดหมู่ใหม่ๆสำหรับโลกนี้ ไม่อย่างนั้นพวกเราจะสูญเสียฐานที่มั่นอันแสนสำคัญในธุรกิจ”

   “ด้วยเหตุผลนี้ เราจะไม่มีวันขายทิ้งหรือออกจากธุรกิจโทรศัพท์มือถือของเรา”

Totoki_on_SonyMWC.PNG

   ในด้านผลิตภัณฑ์ Sony Mobile ค่อยๆพัฒนาไปในทิศทางที่น่าพอใจด้วย Xperia Z2, Z3 และสมาร์ทโฟนเรือธงรุ่นล่าสุดอย่าง Xperia Z3+ ที่เริ่มวางจำหน่ายกันไปแล้วในหลายประเทศ Sony ยังได้เปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นกลางที่น่าสนใจอย่าง Xperia C4 และ Xperia M4 Aqua สำหรับแข่งขันในตลาดระดับกลางด้วย

   นายโทโตกิกล่าวว่า “เมือตอนที่เราเปิดตัว Z3 สู่ตลาดโลก มันได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี แต่ตอนนี้พวกเรากำลังเผชิญกับผู้เล่นหน้าใหม่จำนวนมาก ซึ่งรวมถึงผู้ผลิตจากประเทศจีนที่พยายามจะสร้างสมาร์ทโฟนคุณภาพดี ดังนั้นการแข่งขันจึงรุนแรงมาก”

   “พวกเรากำลังพยายามจะเปิดตัวเทคโนโลยีใหม่ในอนาคตและทำให้ผลิตภัณฑ์ของเราแตกต่างมากยิ่งขึ้น คุณภาพและความแข็งแกร่งของผลิตภัณฑ์นั้นเป็นจุดเริ่มต้นเสมอไม่ว่ากลุยุทธของบริษัทเราจะเปลี่ยนไปอย่างไร”

   “ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีของ C4 ผู้คนชอบหน้าจอที่กว้างขึ้น และผลิตภัณฑ์นั้นก็โดดเด่นในจุดนี้ กระแสตอบรับขั้นต้นนั้นดีมากๆ ผมจึงมั่นใจว่ามันจะประสบความสำเร็จ”

   เมื่อพูดถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ และเริ่มเปลี่ยนเรื่องเข้าสู่ SmartWatch และอุปกรณ์สวมใส่ รอยยิ้มเล็กๆบนใบหน้าของโทโตกิก็เริ่มปรากฏ

   Sony Ericsson เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกนาฬิกาอัจฉริยะในปัจจุบัน โดยได้เปิดตัว LiveView ตั้งแต่ปี 2010 และตอนนี้ SmartWatch ของ Sony ก็มาถึงรุ่นที่ 3 แล้ว ซึ่งก็คือ Sony SmartWatch 3

   “พวกเราเปิดตัวนาฬิกาอัจฉริยะของเราค่อนข้างเร็วในอุตสาหกรรมนี้” โทโตกิกล่าว

   “พวกเรามีความรู้สึกที่ดีต่อเทคโนโลยีนี้ และพวกเราก็ไม่ได้จำกัดตัวเองให้อยู่แต่กับนาฬิกาอัจฉริยะ พวกเราได้สร้างอุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะ ผลิตภัณฑ์อัจฉริยะ และอุปกรณ์อัจฉริยะ และยังมีสิ่งอื่นๆอีกมากมายที่กำลังสร้างอยู่เพื่อยุค ‘อินเตอร์เน็ตในทุกสิ่ง'”

   “อุปกรณ์ประเภทนั้นและฟากนั้นของอุตสาหกรรมได้ขยายใหญ่ขึ้นมากๆ และไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในกรอบของอุปกรณ์เสริมสำหรับสมาร์ทโฟน ในตอนนี้พวกเราพยายามจะพัฒนาอุปกรณ์อัจฉริยะที่เชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน ในอนาคตจะมีผลิตภัณฑ์หมวดใหม่ๆที่จะเชื่อมต่อกับระบบ เชื่อมต่อกันเองระหว่างเครื่องจักรกับเครื่องจักร และเชื่อมต่อกันระหว่างมนุษย์กับมนุษย์”

   “การเชื่อมต่อแบบนั้นจะขยายวงกว้าง และเราจะพยายามพัฒนาหมวดหมูอื่นๆอีกมากในอนาคต นั่นคือเป้าหมายหลักอย่างหนึ่งของบริษัทนี้ มันคือกลยุทธ์ใหญ่สำหรับอนาคต”

   การเชื่อมต่อระดับนี้ และการที่สมาร์ทโฟนกลายเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตประจำวันของผู้ใช้ เป็นสิ่งที่นายโทโตกิมองว่าเป็นความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

   “ในตอนเช้า เมื่อคนเราตื่นนอน พวกเขามองหาสมาร์ทโฟนของพวกเขา” เขากล่าว

   “เมื่อพวกเขาเข้านอน พวกเขาก็มองดูสมาร์ทโฟนของตัวเองเช่นกัน สมาร์ทโฟนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตในทุกวันนี้ และผู้คนก็มีความต้องการสูง พวกเราต้องการกล้องคุณภาพสูง หน้าจอคุณภาพสูง และคุณภาพเสียงและภาพที่ดี”

   “นี่คือความต้องการขั้นพื้นฐานที่คนเราต้องการในปัจจุบัน พวกเขาต้องการคุณภาพสูง และนี่คือพื้นที่ที่เราพยายามจะใส่เทคโนโลยีใหม่ลงไปเพื่อให้เกิดประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น และความรู้สึกที่ดีกว่าสำหรับลูกค้า”

   นายโทโตกิยอมรับว่า บริษัทและแบรนด์คู่แข่งนั้นมีอยู่เต็มไปหมด

   “ใช่แล้ว การแข่งขันนั้นรุนแรงมาก” เขากล่าว

   “อุปกรณ์สมาร์ทโฟนประกอบด้วยแบตเตอรี่ หน้าจอ และชิพต่างๆ นี่คือส่วนประกอบหลักๆของสมาร์ทโฟน และผู้คนสามารถผลิตมันได้ง่ายมากในทุกวันนี้”

   “แต่ความแตกต่างนั้นอยู่ที่ประสบการณ์การใช้งาน แม้ว่าอุปกรณ์จะเหมือนกัน แต่ประสบการณ์การใช้งานนั้นจะไม่เหมือนกัน และนี่คือจุดที่สำคัญมาก ผู้คนไม่ได้ซื้อสมาร์ทโฟนเพียงเพราะตัวอุปกรณ์และหน้าตาของมัน พวกเขาซื้อประสบการณ์การใช้งาน”

   นายโทโตกิระบุว่า Sony Mobile สามารถยืนหยัดในแนวหน้าได้อย่างง่ายดายด้วยเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาโดยแผนกอื่นๆของ Sony

   เขากล่าวว่า “แน่นอนว่าเราใช้เซนเซอร์การถ่ายภาพคุณภาพเยี่ยมที่เพื่อนร่วมงานใน Sony ได้สร้างขึ้น นั่นคือฝีมือด้านเทคโนโลยีที่พวกเราต้องติดตั้งลงไปเพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุด และฝีมือในด้านเทคโนโลยีนี้ก็เป็นสิ่งที่สำคัญมาก มันคือกุญแจสำคัญในการเป็นมากกว่าสมาร์ทโฟน มันทำให้คุณภาพสูงขึ้น พัฒนาภาพลักษณ์ของแบรนด์และประสบการณ์การใช้งาน”

   ประการการใช้งานเป็นหนึ่งในประเด็นหลักของอุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือ เช่นเดียวกันกับเรื่องอุปกรณ์สวมใส่และ “อินเตอร์เน็ตในทุกสิ่ง”

Hiroki-Totoki02

   แต่อีกประเด็นหนึ่งที่ค่อนข้างจะเข้มข้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาก็คือเรื่อง 5G ซึ่งรุ่นใหญ่อย่าง Sony Mobile ก็ถูกคาดว่าจะเป็นหนึ่งในแนวหน้าในการพัฒนา แล้วอีกไกลแค่ไหนล่ะกว่าจะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ 5G?

   “แผนการของเทคโนโลยีดังกล่าวนั้นออกมาแล้ว” นายโทโตกิกล่าวอย่างมั่นใจ

   “การใช้งานเทคโนโลยีนี้จะเริ่มขึ้นทีละประเทศ” เขากล่าวต่อ “อย่างเช่น ในประเทศญี่ปุ่น ในปี 2020 เป็นปีแห่งโอลิมปิก มันจะเป็นโอลิมปิกครั้งที่ 2 ในประวัติศาสตร์ของเรา และเป็นปีที่สำคัญสำหรับเรา รัฐบาลและผู้ให้บริการเครือข่ายรายใหญ่ต้องการจะสาธิตเทคโนโลยี 5G ในประเทศญี่ปุ่นเมื่อถึงตอนนั้น นั่นคือแผนของเราในประเทศญี่ปุ่น และผมแน่ใจว่าประเทศอื่นๆก็จะมีแผนของตนเอง”

   เขาได้กล่าวเสริมอีกว่าเขาต้องการจะใช้ 5G ในการพัฒนาประสบการณ์การใช้งาน

   “ด้วยเทคโนโลยี 5G สิ่งที่น่าสนใจก็คือ พวกเราจะสามารถเพิ่ม bandwidth และผู้คนจะสามารถมีความสุขไปกับความง่ายในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตและความเร็วที่สูงขึ้น โดยใช้แบตเตอรี่น้อยลง นั่นเป็นสิ่งที่น่าสนใจมากๆ”

   “หากคุณมองไปที่สมาร์ทโฟนและนาฬิกาอัจฉริยะในทุกวันนี้ ผู้ผลิตอุปกรณ์หลายๆเจ้าแข่งขันกันออกผลิตภัณฑ์ ซึ่งเรื่องแบตเตอรี่นั้นเป็นเรื่องหนึ่งที่น่าปวดหัวมากอย่างแน่นอน ความก้าวหน้าในเทคโนโลยีของแบตเตอรี่และเทคโนโลยีอื่นๆจะทำให้เราสามารถสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้นแก่ผู้ใช้ และนี่จะช่วยพัฒนาและขยายธุรกิจ”

S1

   สำหรับนายโทโตกิแล้ว ความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมอันรวดเร็วเหล่านี้ได้เปิดช่องทางการเรียนรู้ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดโอกาสใหม่ๆจำนวนมาก “ผมสังเกตเห็นว่า พรมแดนระหว่างแต่ละประเทศมากมายได้หายไป” เขากล่าว

   “มันไม่มีการแบ่งแยกในด้านสารสนเทศ พรมแดนเหล่านั้นได้อันตรธานหายไปแล้ว และพวกเรากำลังทำงานเพื่อเศรษฐกิจเดียวกันทั่วทั้งโลก พวกเราทุกคนอยู่ใต้หลังคาเดียวกัน”

“มีผู้เล่นจำนวนมาก ผู้เล่นหน้าใหม่จำนวนมาก และบริษัทใหม่ๆที่กระโดดเข้ามาในอุตสาหกรรมนี้ โลกได้แบนลงและการแข่งขันรุนแรงมากขึ้น และนั่นเป็นสิ่งที่ดีสำหรับเรา พวกเราสามารถเปลี่ยนแปลงภูมิประเทศของการแข่งขันด้วยเทคโนโลยีใหม่เทคโนโลยีเดียว หรือแม้แต่ผลิตภัณฑ์เพียงชิ้นเดียว”

“นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก และพวกเราจำเป็นต้องเผชิญหน้ากับความเป็นจริงนี้ พวกเราไม่ควรจะมัวคร่ำครวญถึงสิ่งที่เป็นในอดีต พวกเราต้องมองอนาคตและตื่นเต้นไปกับมัน”

 

ที่มา: Arabian Business

ขอบคุณที่ร่วมแสดงความรู้สึกของคุณต่อบทความนี้ อย่าลืมที่จะแชร์ให้คนอืนได้รู้ความรู้สึกนี้ .
บอกให้เรารู้ถึงความรู้สึกหลังจากที่คุณได้อ่านบทความนี้
  • ประทับใจสุดๆ
  • ดีจังเลย
  • โกรธสุดๆ
  • เฉยๆ อ่ะ
  • รู้สึกหดหู่