นายคาซูโอะ ฮิราอิ

“มีข้อดีมากมายสำหรับเจ้านายผู้เป็นไทจากขนบธรรมเนียมเก่าๆที่รุ่มร่าม”

KUNIO SAIJO, นักเขียนอาวุโสจากสำนักข่าว Nikkei

 

    เมื่อพูดถึงผู้บริหารระดับสูงขององค์กรขนาดใหญ่ ผู้คนมักจะนึกภาพในหัวว่าเป็นบุรุษมาดเข้มในชุดสูท 3 ชิ้น ซึ่งนายคาซูโอะ ฮิราอิ (Kazuo Hirai) ประธานและ CEO บริษัท Sony ได้ลบล้างความคิดเหมารวมที่ว่านั้น ไม่ใช่เพียงแค่เพราะเขาสวมกางเกงยีนส์และรองเท้าผ้าใบในออฟฟิศ แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา นายฮิราอิถือเป็น “ตัวประหลาด” ในสายตาของคนญี่ปุ่น สืบเนื่องมาจากประสบการณ์ในต่างแดนที่เขาได้พบเจอตั้งแต่ช่วงชีวิตตอนต้นของเขา

    ภายใต้การกุมบังเหียนของนายฮิราอิ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคมที่เพิ่งผ่านมา Sony ได้ประกาศว่า พวกเขาคาดการณ์ไว้ว่าผลกำไรจากการประกอบการในปีการเงินนี้ซึ่งนับถึงเดือนมีนาคมปีหน้าจะสูงที่สุดในรอบ 20 ปี นับตั้งแต่ที่นายฮิราอิก้าวเข้ามารับตำแหน่งในปี 2012 ทางบริษัทได้ประสบความสำเร็จในการกู้คืนโมเดลธุรกิจที่สมดุลซึ่งสามารถสร้างรายได้จากธุรกิจที่หลากหลาย ตั้งแต่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไปจนถึงบริการการเงิน

    รูปร่างสูงใหญ่และหล่อเหลา ทั้งยังมีใบหน้าที่ยิ้มแย้มตลอดเวลาและเป็นกันเอง นายฮิราอิไม่เคยขึ้นเสียงในที่ทำงานเลย แต่ในเบื้องหลังของชายคนนี้ เขาได้ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากมามากมายเมื่อครั้งยังเป็นเด็กและนักเรียน

    ทุกอย่างเริ่มต้นในภาคการเรียนช่วงฤดูใบไม้ผลิปีแรกของเขาในโรงเรียนประถมที่ประเทศญี่ปุ่น บิดาของเขาซึ่งเป็นพนักงานธนาคารได้ถูกย้ายให้ไปประจำที่สหรัฐอเมริกา ทั้งครอบครัวของเขาจึงย้ายไปอยู่ที่ควีนส์ นครนิวยอร์ก โดยอาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์ และที่นั่นนายฮิราอิก็ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนรัฐแห่งหนึ่งในท้องถิ่นนั้น ในวันแรกที่เขาเข้าเรียน หลังจากที่บิดามารดามาส่งเขาและจากไป ก็ได้ทิ้งเด็กชายชาวญี่ปุ่นตัวน้อยๆที่ความรู้ภาษาอังกฤษเป็นศูนย์ไว้ในห้องเรียนด้วยตัวคนเดียว เขาได้เผชิญกับความรู้สึกโดดเดี่ยวที่มากเกินกว่าจะอธิบาย นายฮิราอิเล่าความหลังให้ฟัง

    ผู้คนมักจะไม่ค่อยเชื่อเรื่องนี้ เขากล่าว แต่เขาต้องคอยเอาแผ่นกระดาษ 3 ใบแขวนไว้กับสายคล้องคอตลอดเวลาที่อยู่ที่โรงเรียน บนการ์ดได้เขียนข้อความไว้เป็นภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่นเพื่อเอาไว้บอกอาจารย์ว่า “ผมป่วย” (I am sick.) “ผมอยากจะไปห้องน้ำ” (I want to go to the bathroom.) และ “กรุณาโทรหาพ่อแม่ผมทันที” (Please call my parents immediately.)

เป็นชนกลุ่มน้อยตลอดเวลา

    นายฮิราอิได้กลายเป็นเพื่อนกับเด็ก 2 คนที่อายุเท่ากันซึ่งอาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์เดียวกันกับเขา แม่ของนายฮิราอิมักจะชวนเด็กทั้งสองมาบ้านและทำราเม็งสำเร็จรูปให้กินเพื่อช่วยให้นายฮิราอิมีเพื่อน นายฮิราอิได้ร่วมฉลองเทศกาลฮาโลวีนและวันขอบคุณพระเจ้ากับเพื่อนๆของเขา และเมื่อถึงช่วงเวลาที่เขาขึ้น ป. 2 เขาก็ได้รับการยอมรับเป็นอย่างดีจากเพื่อนร่วมห้อง

นายคาซูโอะ ฮิราอิ CEO บริษัท Sony ถือเครื่องรับวิทยุ Skysensor radio receiver ของบริษัท ที่เขาซื้อมาในยุค 70 ด้วยเงินปีใหม่ตอนที่เขายังเป็นนักเรียนมัธยมต้น ขณะนั้น Skysensor เป็นผลิตภัณฑ์สุดฮิต และเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์แห่งความสำเร็จของ Sony

 

    เมื่อเขาเริ่มปรับตัวเข้ากับโรงเรียนสไตล์อเมริกันมากขึ้น เขาก็เริ่มที่จะหลงลืมวิธีการวางตัวในโรงเรียนแบบญี่ปุ่นไปทีละน้อย ดังนั้นเมื่อเขาย้ายกลับมายังกรุงโตเกียวตอน ป. 4 เขาก็พบว่า เขาไม่เข้าพวกสักเท่าไร ณ ตอนนั้นผู้ที่กลับมาจากต่างประเทศยังมีไม่มากเท่าปัจจุบันนี้ และอาจจะเป็นเพราะนักเรียนคนอื่นๆไม่คุ้นเคยกับนักเรียนชายร่างสูงใหญ่ผู้ถูกปลูกฝังความเป็นอเมริกันและพูดภาษาอังกฤษได้ใกล้เคียงกับเจ้าของภาษา นายฮิราอิได้พยายามอย่างหนักในการปรับตัว แต่เมื่อถึงตอนที่เขาสามารถปรับตัวกลับมาได้สำเร็จแล้ว เขาก็ได้ย้ายไปอยู่ประเทศอื่นอีกครั้ง

    ภายหลังจากที่ได้ใช้ช่วงเวลาวัยเด็กแบบแกว่งไปแกว่งมา สลับไปมาระหว่างญี่ปุ่นและต่างประเทศ ในที่สุดนายฮิราอิก็ได้เลือกที่จะศึกษาในมหาวิทยาลัยนานาชาติ International Christian University ในกรุงโตเกียว ที่จริงแล้วเขาสามารถเลือกกลับไปเรียนต่ออุดมศึกษาในสหรัฐอเมริกาก็ได้เนื่องจากเขาจบการศึกษาระดับมัธยมในโรงเรียนอเมริกันในโตเกียว แต่เขารู้สึกว่า ที่สุดแล้วเขาก็เป็นชาวญี่ปุ่นและอยากจะปักหลักอยู่ในญี่ปุ่นก่อนในช่วงเวลานั้น

    มหาวิทยาลัย International Christian University มีนักศึกษาที่กลับมาจากต่างประเทศเยอะกว่ามหาวิทยาลัยอื่นๆในญี่ปุ่น ทว่าพวกเขาก็ยังเป็นชนกลุ่มน้อยอยู่ดี นักศึกษาแบบนายฮิราอิ ผู้เป็นชาวญี่ปุ่นแต่ใช้ได้เคยใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศก่อนที่จะเข้ามาเรียนที่นี่จึงพูดภาษาอังกฤษได้ดี ต่างถูกนักศึกษาส่วนใหญ่เรียกว่า “เฮน-จาปา”  (Hen-Japa) หรือ “ชาวญี่ปุ่นประหลาด” ซึ่งตรงข้ามกับ “จุน-จาปา” (Jun-Japa) หรือ “ชาวญี่ปุ่นแท้” ผู้มาจากระบบการศึกษาทั่วไปของประเทศญี่ปุ่น โดย “เฮน-จาปา” กับ “จุน-จาปา” ต่างก็มีสังคมของตนเองในรั้วมหาวิทยาลัย และจะมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันบ้างในบางครั้ง

    ในสมัยนั้น มหาวิทยาลัย International Christian University เป็นหนึ่งในสถานที่ไม่กี่แห่งบนเกาะญี่ปุ่นที่มีความหลากหลายเช่นนี้ปรากฏ และความปรองดองนี้ก็ได้เปิดรับเหล่านักเรียน “เฮน-จาปา” เอาไว้ นายฮิราอิกล่าวว่า เขาไม่ได้ประสบกับปัญหาวิกฤตเอกลักษณ์ (Identity crisis) เนื่องจากเขาเป็นคนจืดชืด แต่หลังจากผ่านไป 1-2 ปีในรั้วมหาวิทยาลัย International Christian University เขาก็ได้ตัดสินใจแล้วว่าเขาจะใช้ชีวิตเป็นชาวญี่ปุ่น และนั่นเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตของเขา เขาเล่า

    เขามีชีวิตมหาวิทยาลัยที่เต็มไปด้วยเหตุการณ์ต่างๆ เขาทำเงินได้มาก เกือบจะ 2 เท่าของรายได้นักศึกษาจบใหม่ในญี่ปุ่น ณ เวลานั้น โดยทำงานแปลภาษาและสอนภาษาอังกฤษ เขาได้ขับตระเวนไปทั่วบนรถสปอร์ต Mazda RX-7 มือสอง และในงานปาร์ตี้นักศึกษา เขาก็ได้ทำหน้าที่เป็น DJ ร่วมกับจอน คาบิระ (Jon Kabira) เพื่อนที่อายุมากกว่าซึ่งปัจจุบันเป็นคนดังในโทรทัศน์และวิทยุญี่ปุ่น นายฮิราอิยังคงจำได้ถึงการที่เขาอวดรู้ความเกี่ยวกับอักษรคันจิที่ซับซ้อนต่อเพื่อนจุน-จาปาของเขา โดยความรู้ด้านอักษรคันจิ (อักษรภาษาจีนที่ใช้ในภาษาเขียนของญี่ปุ่น) ของเขานั้นได้มาจากคลาสเรียนพิเศษที่จัดขึ้นเพื่อนักศึกษาเฮน-จาปาเพื่อให้สามารถตามคนอื่นได้ทัน

    การเป็นเฮน-จาปานั้นคล้ายคลึงกับการเป็นชนกลุ่มน้อย พวกเขามีช่องว่างของความแตกต่างทางความคิดอันมหึมาจากสังคมหลักของประเทศญี่ปุ่น ถึงแม้จะมีความรู้สึกแปลกแยกจากคนหมู่มาก แต่พวกเขาก็ไม่มีความคิดที่จะบีบตัวเองเพื่อลดช่องว่างนั้น หรือปฏิเสธมุมมองความคิดเห็นของคนอื่นที่แตกต่างไปจากความคิดของพวกเขา พวกเขารับรู้และยอมรับความแตกต่าง และนั่นก็ได้กลายเป็นวิถีชีวิตของนายฮิราอิ

 

 

 

ตัวตนที่ไม่ยึดติดกับขนมธรรมเนียม

    หลังจากที่สำเร็จการศึกษาจาก International Christian University นายฮิราอิได้เข้าทำงานที่ CBS/Sony Records ในกรุงโตเกียว เขาได้ทำงานในหลายๆบริษัทในเครือ Sony ซึ่งรวมถึง Sony Computer Entertainment และได้กลายเป็นหัวหน้าของฝ่ายดังกล่าวในปี 2012

    ผู้คนอาจจะรู้จัก Sony ในรูปแบบขององค์กรที่มีวัฒนธรรมที่เปิดกว้างและเป็นอิสระ แต่ที่จริงแล้วมันเป็นองค์กรแบบหลายชั้น หน่วยเพลงและวีดิโอเกมของนายฮิราอิถือว่าค่อนข้างใหม่ ในขณะที่ฝ่ายอุปกรณ์ภาพและเสียง อย่างโทรทัศน์และกล้องวีดิโอ ต่างก็มีประวัติศาสตร์อันยาวนานภายในกลุ่มและถือเป็น “หน้าตา” ของบริษัท

    ทั้งสองฝ่ายยังมีความแตกต่างในวัฒนธรรมเป็นอย่างยิ่งอีกด้วย ครั้งหนึ่ง นายฮิราอิได้ไปเยี่ยมสำนักงานของธุรกิจที่ค่อนข้าง “เก่าแก่” ของกลุ่มในเขตชินากาวะในกรุงโตเกียว เหล่าผู้บริหารที่มาพบกับเขาต่างก็ปรากฏกายในชุดของบริษัทที่ดูเหมือนเสื้อกั๊กสีน้ำตาลอ่อน ส่วนนายฮิราอิแต่งกายสบายๆแบบทุกที ซึ่งในสายตาของทั้งสองฝั่ง อีกฝั่งต่างก็ดูจะแต่งตัวได้แปลกสุดๆ

นายคาซูโอะ ฮิราอิ CEO บริษัท Sony เปิดตัวหุ่นยนต์สุนัข aibo รุ่นใหม่เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมาในกรุงโตเกียว ประกาศว่าบริษัทจะเข้าสู่ตลาดหุ่นยนต์อีกครั้ง

 

    Sony เคยเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยพนักงานจุน-จาปาเป็นหลัก แต่เมื่อบริษัทตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากกระแสโลกาภิวัฒน์ที่เพิ่มมากขึ้นทุกที นายฮิราอิก็ได้รับบทบาทที่สำคัญมากยิ่งกว่าเดิมเสียอีก ในที่สุดเขาก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น CEO โดยนาย Howard Stringer ประธานบริษัทในขณะนั้น แม้ว่านักศึกษาเฮน-จาปาหลายๆคนจะมีตำแหน่งที่สำคัญในบริษัทต่างประเทศ แต่นายฮิราอิอาจเป็นคนแรกที่ได้กลายมาเป็นหัวเรือใหญ่ของบริษัทยักษ์ใหญ่สัญชาติญี่ปุ่นที่มีเก้าอี้รองประธานในคณะกรรมการบริหารของสมาพันธ์ธุรกิจแห่งประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเวทีกลางของธุรกิจยักษ์ใหญ่ของประเทศ นามว่า Keidanren

    ด้วยความเป็นอิสระจากขนมธรรมเนียมเก่าแก่ที่รุ่มร่าม นายฮิราอิได้หยิบขวานจามลงไปที่ธุรกิจโทรทัศน์และคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (ผ่าตัดใหญ่ Bravia และขาย VAIO ทิ้ง) ผลประกอบการจากที่เคยจมดิ่งอยู่ในโซนแดงตอนที่เขาก้าวเข้ามารับตำแหน่ง CEO ก็ได้พุ่งขึ้นอย่างมากจนถึงระดับที่กำลังจะเป็นสถิติ เขาได้จัดให้มีการแข่งขันภายในธุรกิจเพื่อหาไอเดียใหม่ๆจากพนักงาน ซึ่งนำไปสู่ผลิตภัณฑ์อย่าง SmartWatch และเครื่องกระจายกลิ่นหอมแบบพกพา ในความพยายามทั้งหมดของเขาเหล่านี้ นายฮิราอิวางเป้าที่จะฟื้นคืนจิตวิญญาณของ Sony โดยเอาผู้คนที่มีความคิดนอกกรอบมาเป็นรากฐาน

    เนื่องจากเขาเพิ่งจะอายุ 56 ปี คงจะยังเร็วไปสำหรับนายฮิราอิที่จะคิดถึงเรื่องการเกษียณอายุ อย่างไรก็ตาม เมื่อถูกถามเกี่ยวกับแผนหลังการเกษียณ นายฮิราอิกล่าวว่า ภารกิจของเขาคงจะยังเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวในเวทีนานาชาติ เช่น การประชุมสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) เพื่อที่จะยกระดับตัวตนของประเทศญี่ปุ่นบนเวทีโลก มากกว่าการโฟกัสไปที่กิจกรรมภายในประเทศ ซึ่งแตกต่างจากนายอากิโอะ โมริตะผู้ร่วมก่อตั้ง Sony ที่อุทิศตนให้กับอุตสาหกรรมญี่ปุ่นหลังจากเกษียณ รวมถึงการทำงานเป็นรองประธาน Keidanren แต่นายฮิราอิดูเหมือนจะตั้งมั่นในการใช้ชีวิตในสไตล์เฮน-จาปาจนถึงที่สุด

 

ที่มา: Nikkei

ขอบคุณที่ร่วมแสดงความรู้สึกของคุณต่อบทความนี้ อย่าลืมที่จะแชร์ให้คนอืนได้รู้ความรู้สึกนี้ .
บอกให้เรารู้ถึงความรู้สึกหลังจากที่คุณได้อ่านบทความนี้
  • ประทับใจสุดๆ
  • ดีจังเลย
  • โกรธสุดๆ
  • เฉยๆ อ่ะ
  • รู้สึกหดหู่