โลกสมัยนี้เปลี่ยนไปครับ การจับจ่ายซื้อของของคนยุคใหม่ที่ไม่มีเวลาจับจ่ายมากนั้น การซื้อของออนไลน์นับเป็นทางเลือกใหม่ที่สะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องสิ้นเปลืองค่าเดินทาง และไม่ต้องฝ่าฟันกับสภาพอากาศที่เลวร้าย

แต่ในการเปลี่ยนแปลงก็ย่อมมีช่องทางให้เกิดการบิดเบือนและเอาเปรียบอยู่เสมอ  ลูกค้าที่ช่ำชองในการซื้อสินค้าก็มักจะมองตรงนี้ออก แต่สำหรับมือใหม่ วันนี้ผมจะนำเอาประสบการณ์ของผมที่คลุกคลีอยู่ในวงการนี้ โดยจะนำเอามาเฉพาะหัวข้อที่คิดว่าเป็นการเอารัดเอาเปรียบ แต่จะไม่นำเอาเรื่องการตั้งราคาถูกหรือแพงมาเกี่ยวข้อง เพราะการตั้งราคาและความต้องการกำไรของแต่ละร้าน ย่อมเป็นสิทธิ์ส่วนตัวที่ว่ากันไม่ได้

 

ของแท้ทั้งร้าน ไม่มีอะไรไม่แท้

ปัจจุบันสินค้าที่ขายในโลกออนไลน์นั้นมีหลากหลายประเภท ทางผมของแยกออกเป็นแต่ละประเภทดังนี้  

สินค้าแท้ ประกันศูนย์

ชื่อก็บอกอยู่แล้ว คือเป็นสินค้าที่แต่ละร้านรับจากศูนย์ในไทยหรือต่างประเทศโดยตรง ส่วนมากจะมีการทำสัญญากันไว้ ว่าจะต้องขายตามราคากลาง ซึ่งกำหนดไว้ที่ราคาเดียวกันทั่วโลกหรือทั่วประเทศ และหากสินค้ามีปัญหาในระยะการรับประกัน จะสามารถเคลมได้
ตัวอย่าง Void หรือใบรับประกัน ที่สินค้าศูนย์มักมีให้กับลูกค้า

สินค้าแท้ OEM
เวลาที่สินค้าตัวหนึ่งเช่น ฝาหลัง หน้าจอ หรืออุปกรณ์เสริม ถูกผลิตขึ้นในแต่ละโรงงานนั้น แน่นอนอยู่แล้วว่าเป็นการยากที่จะไปบังคับให้แต่ละโรงงาน ไม่ผลิตออกมาขายเองด้วย ทำให้มีสินค้าประเภทนี้ขายอยู่ทั่วไป ยกตัวอย่างให้เห็นได้ชัด เช่นอะไหล่ ไอโฟน ทั้งที่ Apple ไม่มีศูนย์ในไทย แต่อะไหล่แท้ มีให้หาซื้อได้  หากถามถึงคุณภาพแล้ว สินค้าประเภทนี้ไม่ต่างอะไรจากของศูนย์มาก แต่จะเสียเปรียบตรงการรับประกัน ดังนั้นสินค้าประเภทนี้อาจจะมีราคาที่ต่ำกว่า และการรับประกันเป็นของทางร้านเองมากกว่า

สินค้าแท้ (ก็อปแท้)

สินค้าก็อปปี้บางตัวคุณภาพแย่ บางตัวคุณภาพดี จริงๆ ตรงนี้จะเอามาวัดอะไรคงไม่ได้ ลูกค้าบางท่านยินดีและยอมรับที่จะซื้อของก็อป โดยส่วนมากก็จะทราบโดยตัวเองอยู่แล้ว ยกตัวอย่าง หากมีร้านค้าร้านนึงขายไอโฟนสีชมพูหวานแหวว  ลูกค้าที่ซื้อก็คงทราบโดยตัวเองอยู่แล้ว (ถ้าไปถามว่าแท้มั้ยก็นะ ตัวใครตัวมัน 0.0)

สินค้าแท้ (เค้าบอกว่าแท้)

ของบางชนิด ศูนย์ยังไม่เคยผลิตออกมาเลย เช่นไอโฟนสีชมพูอย่างที่บอก แสดงว่าผลิตเองสินะ XD  ไม่ยากครับ สมัยนี้ผลิตภัณฑ์แท้ส่วนมากจะมีเว็บไซต์กันทั้งนั้นอย่าง อุปกรณ์เสริมของ Sony สมมุติว่าท่านอยากรู้ว่า เจ้าของชิ้นนี้มันมีด้วยเหรอ ก็ไปหาใน http://www.sonymobile.com/global-en/products/accessories/
เรื่องพวกนี้ผมมองว่ามันไม่ได้เป็นปัญหาที่ของก็อปไม่ก็อปเลย จากประสบการณ์ ของก็อปบางอย่างนำเอารูปแบบของแท้มาพัฒนาต่อ คุณภาพดีกว่าก็มี

แต่ประเด็นมันอยู่ที่ว่า ร้านที่ขายจะบอกลูกค้าอย่างไรมากกว่า ทางที่ดีหากท่านเป็นคนขายก็บอกเค้าไปตามตรง คนหาซื้อของก็อปก็มีเยอะแยะไป

ต่อไปนี้เวลาเจอคำว่าของแท้ ก็ขอให้คิดวิเคราะห์ให้ดีก่อน ว่าแท้เนี่ย แท้แบบไหน

 

สงครามราคา อย่านึกว่าจะเจอของถูก

ตามทฤษฏีทางการตลาดแล้ว หากมีผู้แข่งขันมากราย ย่อมมีการแข่งขันราคา ซึ่งนับว่าเป็นผลดีต่อผู้บริโภคแน่นอน แต่ยุคสมัยเปลี่ยนไป กลยุทธการค้าขายซับซ้อนมากขึ้น เมื่อท่านต้องมาเจอกับ สินค้าลม”

สินค้าลม คืออะไร

ยกตัวอย่าง ร้าน ก มีสินค้าของแท้หนึ่งตัวซึ่งราคากำหนดมาจากศูนย์ว่าต้องขาย1000 บาท ตามปกติแล้วถ้าร้าน ข จะทำการแข่งขัน ก็ต้องรับสินค้าตัวเดียวกันมาขายแล้วตัดราคา(กรณีนี้ ถ้าทราบถึงหูศูนย์ใหญ่ก็จะลำบาก)หรือจะขายราคาเดียวกันก็แล้วแต่

แต่ที่เหนือกว่านั้นคือ ร้าน ข บอกว่า จะไปเสียเวลาหาสินค้าแบบร้าน ก ทำไม ก็ประกาศขายตัวเดียวกันกับร้าน ก นั่นละ(แต่ไม่มีของนะ)  แถมตัดราคาเหลือซัก 500 บาท แล้วไปขึ้นว่าของหมด

แน่นอน แผนนี้ได้ผล ร้าน ก โดนด่าเละ ว่าขายของแพง ทั้งที่เป็นของแท้แน่นอน

 

ประเด็นสำคัญคือ ถ้าท่านเป็นผู้บริโภค ท่านอยากได้ของถูก ท่านก็จะไปถามร้าน ก ว่า  “เฮีย เมื่อไหร่ของตัวนี้ จะมาละ”  ท่านก็จะได้คำตอบว่า “เร็วๆนี้ละ”

ในความเป็นจริงนั้น ต่อให้รับสินค้าตัวเดียวกันมา ก็ไม่สามารถจะขายราคาที่กล่าวอ้างได้ เนื่องจากเหตุผลด้านต้นทุน รวมถึงกฎที่ทางศูนย์ใหญ่กำหนดไว้

งานนี้ผู้ซื้อเสียโอกาสเต็มๆ ครับ รอไปเถอะครับ แถมคนที่เค้าตั้งใจจะขายสินค้าดีๆ ก็พลอยเดือดร้อนกันไป

 

แล้วจะดูยังไง ?

ปกติการนำเข้าสินค้าหนึ่งตัว ระยะเวลาในการขนส่งอย่างมากก็ไม่เกิน 1 เดือน หากท่านเห็นสินค้าตัวเดียวกัน ขายกันเกลื่อนตลาด แต่ร้านที่ท่านรอยังบอกให้รออยู่

ก็ขอให้ใช้วิจารญาณ เลือกร้านที่ท่านเคยซื้อหรือที่ท่านมั่นใจจะดีที่สุดครับ

 

 

วันๆ หนึ่ง จัดส่งสินค้ากันนับไม่ถ้วน

 

ที่ร้าน SE-Update Shop เราไม่ประกาศเลขพัสดุลูกค้าออกมาทางหน้าเว็บได้ซักพักแล้ว ลูกค้าจะต้องทำการ login เพื่อดูข้อมูลของตัวเองเท่านั้น  เพราะเรามองว่ามันคือข้อมูลส่วนตัว ท่านที่เคยซื้อของทาง EBay Amazon ท่านเคยเห็นร้านไหนเอาเลขพัสดุ มาประกาศกันโต้งๆ แบบในไทยบ้าง ?

และด้วยช่องว่างและโอกาสตรงนี้ ทำให้มีร้านหัวใสบางร้าน แอบอ้าง จำนวนการจัดส่งสินค้า วันละนับร้อยๆ ชิ้น เพื่อให้ลูกค้าเกิดการตายใจ หรือ เพื่อดึงดูดความสนใจ

 

แล้วหนูจะรู้ได้ยังไงอะค่ะคุณพี่

ไม่ยากเลยครับน้อง  น้องก็ทดลองเอาเลขพัสดุที่เค้าประกาศในแต่ละวัน ไปทดลองหาที่ http://track.thailandpost.co.th/trackinternet/Default.aspx  สิครับ  ถ้าเลขมันมั่ว ระบบก็จะบอกว่าผิด หรือบางร้านหัวใสปิ๊งกว่า ไปเอาเลขพัสดุตั้งแต่สมัยพระเจ้าเหามาหลอก ก็ลองดูๆ วันที่ ที่ระบบของไปรษณีย์แจ้ง ละกันครับ

 

สุดท้ายแล้ว ผมอยากเห็นธุรกิจการค้าขายออนไลน์ในไทยเติบโตเหมือนในต่างประเทศซักที ซื้อขายสุจริต ค้ากำไรแต่พอควร
ฝากอีกนิดนึงก่อนไป คือ นอกจากจะดูสินค้าที่ราคา แล้วอย่าลืมดูค่าจัดส่งด้วยนะครับ ว่าเค้าคิดต่อชิ้น หรือ ต่อครั้งที่สั่ง
เห็นสินค้าราคาถูกๆ สุดท้ายมารู้ตัวอีกทีว่าโดน ชาร์จค่าส่งต่อชิ้น แล้วจะเสียใจนะครับ
เอาตารางค่า EMS ไปรษณีย์ไทยไปศึกษานะครับ จะได้รู้ทันกันครับ

ใครที่สนใจในประเด็นนี้สามารถไปพูดคุยกันต่อได้ที่

อะไรที่ทำให้ E-commerce ของไทยเรายัง ไม่ก้าวไปไกลเท่าที่ควร ?

 

ขอบคุณที่ร่วมแสดงความรู้สึกของคุณต่อบทความนี้ อย่าลืมที่จะแชร์ให้คนอืนได้รู้ความรู้สึกนี้ .
บอกให้เรารู้ถึงความรู้สึกหลังจากที่คุณได้อ่านบทความนี้
  • ประทับใจสุดๆ
  • ดีจังเลย
  • โกรธสุดๆ
  • เฉยๆ อ่ะ
  • รู้สึกหดหู่